ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม นักวิชาการ ผู้ให้บริการฟรีทีวี ชี้บทบาทของนโยบายการหลอมรวมสื่อต่ออุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ และองค์กรแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ ต้องลงทุนสูงผลตอบแทนต่ำ ขณะที่สื่อทีวีสาธารณะต้องเร่งปรับตัวก่อนตาย ส่วนองค์กรกำกับดูแลต้องยืดหยุ่นสุดๆ
นายสุระ เกนทะนะศิล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งดูแลในเรื่องของไอที และนิวบิซิเนส บริษัท อสมท กล่าวถึงบทบาทของนโยบายการหลอมรวมสื่อต่ออุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ และองค์กรแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะว่า การให้บริการของอสมทขณะนี้มองไปที่นิวบิซิเนสอย่างอินเทอร์เน็ต ที่สามารถให้บริการแบบเพอร์ซัลนัล คาสติ้งได้ แต่การให้บริการตรงนี้ต้องใช้ต้นทุนสูงแต่รายได้ต่ำ จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นตลาดซัปพลายเออร์ คอนเทนต์ เน็ตเวิร์ก ที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะที่นโยบายรัฐบาลบางอย่างก็ใช้ไม่ได้ เช่น การกำหนดเวลา เพราะสื่ออินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้หมด
การทำนิวบิซิเนสในสายตาของผู้บริหารอสมท มองว่าขณะนี้มีเดียมีอยู่ด้วยกัน 2 แกนคือ 1.ไวร์เลสเน็ตเวิร์ก ที่จะให้บริการดิจิตอล ทีวี ดิจิตอล เรดิโอ คอมมูนิเคชัน 2.ไวร์เน็ตเวิร์ก ที่จะให้บริการประเภทไอพีทีวี ไฟเบอร์ ทู โฮม บริการประเภทนี้ยังไม่มีรายไหนประสบความสำเร็จ อีกบริการคืออินเทอร์เน็ตเซอร์วิสโพรวายเดอร์ หรือไอเอสพี
“เรากำลังดูว่าจะไปไวร์เลสเน็ตเวิร์ก หรือไวร์เน็ตเวิร์กดี เพราะขณะนี้เทคโนโลยีอย่างโมบายทีวีมาตรฐานยังไม่เคลียร์ พฤติกรรมคนดูทีวีกับการใช้งานแบบเคลื่อนที่หรือโมบายก็ไม่เหมือนกัน แต่เรื่องของบรอดคาสต์เทคโนโลยี ดูแล้วเราคงไปได้แค่ไฮเดฟ ดิจิตอล ทีวี”
รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสื่อสาธารณะว่า มีเดียสมัยใหม่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีต่อไปจะมีแพลตฟอร์มเดียวที่เข้าถึงการนำเสนอคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเห็นได้จากโทรศัพท์มือถือเมื่อก่อนนี้ทำอะไรไม่ได้มาก แต่ขณะนี้มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายในเครื่องเดียว
เขามองว่าในอนาคตสื่อต่างๆ จะมาบรรจบกัน และสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ดูทีวี เช็กอีเมล ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่รายใหญ่จะอยู่ลำบาก ดังนั้น องค์กรที่เป็นผู้กำกับดูแลต้องมีการควบคุมให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเป็นการผูกขาดคอนเทนต์
ขณะเดียวกันสื่อทีวีสาธารณะต้องเร่งปรับตัวตามเทคโนโลยีให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีคนดูเพราะไม่มีอะไรเด่น ทำไปก็เสียงบประมาณเปล่า อย่างทีพีบีเอสขณะนี้ยังมีปัญหาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ยังไม่เป็นสาธารณะ บุคลากรยังไม่มีมุมมองเป็นสาธารณะ รวมถึงการที่ไม่มีความหลากหลายของเทคโนโลยี
การจะพัฒนาตรงนี้ต้องร่วมมือกับบริษัทด้านโทรคมนาคม ทำคอนเทนต์ที่เป็นสาระจริง เชื่อว่ายังพอขายได้ แต่ต้องไม่เสียความเป็นตัวของตัวเอง จะต้องไม่ถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ
“สื่อสาธารณะต้องเร่งพัฒนาตัวเองคือต้องพึ่งโทรคมนาคม ไม่เช่นนั้นจะตกขบวนรถไฟ”
ด้านนายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข ผู้อำนวยการบริหารฝ่าย เอสเอ็มอี โซลูชั่น แอนด์ ไวร์เลส แอ็กเซส บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เทคโนโลยีมีเกิด แตก และดับไป ที่พูดๆ กันอยู่ในขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเทคโนโลยีไหนใช่ ไม่ใช่ เพราะแต่ละบริการมีกลุ่มผู้ใช้อยู่ เรื่องคอนเวอร์เจนซ์ที่พูดกันอยู่ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมากกว่า 40-50 ปีแล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนกันสักเท่าไหร่
มีหลายเหตุผลที่ยากจะเข้าไปกำกับดูแลตรงนี้ โดยภาพรวมการกำกับดูแลประโยชน์ต้องตกอยู่ที่ประชาชน ประเทศชาติ และต้องพัฒนาเทคโนโลยีบริการอย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภค ไม่ได้ถูกผลักดันจากการกำกับดูแล แต่เกิดจากเทคโนโลยีทำให้เกิดความต้องการ หรือผู้บริโภคมีความต้องการก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีออกมาตอบสนอง ซึ่งจุดที่แตกต่างของคอนเวอร์เจนซ์คือการเป็นนวัตกรรม
“เทคโนโลยีแต่ละอย่างมีจุดแข็งจุดอ่อน ไม่มีสมบูรณ์และจีรัง การให้ใบอนุญาตหรือไลเซนส์ของไทยเป็นแบบเฉพาะอย่าง หรือซิงเกิลไลเซนส์ การคอนเวอร์เจนซ์จึงมีการกรุ๊ปคอนโซดิเดต คือเอาสิ่งที่ใกล้เคียงกันมาหลอมรวมเข้าด้วยกันได้หรือไม่”
เกี่ยวกับมีเดียบรอดคาสติ้งผู้บริหารทรูมี 2 มุมมอง คือ 1.การกำกับดูแลต้องยืดหยุ่นสูงสุด 2.การกำกับประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เช่น โทรศัพท์พื้นฐาน ผู้ให้บริการอยากจะทำแบบมือถือก็ไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามสัญญาร่วมการงาน เป็นต้น
Company Related Links :
Truecorp
CU
Mcot