xs
xsm
sm
md
lg

พีซีโลคัล-อินเตอร์พอมีทางเดิน ท่ามกลาง“พงหนามเศรษฐกิจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ค้าคอมพิวเตอร์พีซีทั้งโลคัลแบรนด์ อินเตอร์แบรนด์ ยันยังพอมีทางเดินท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถีบค่าครองชีพขึ้นสูง ค่าน้ำพุ่ง โดยมีอินเทอร์เน็ต และภาคการศึกษาที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อน รวมถึงเอสเอ็มอีที่ต้องใช้ไอทีเสริมความแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ตลาดเอพีไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอเมริกา

ในยุคข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะราคาน้ำมันโลกที่พุ่งไม่หยุด จนส่งผลกระทบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงหลายๆ ธุรกิจ ที่ต่างก็ดิ้นหายุทธศาสตร์เพื่อพยุงองค์กรให้อยู่ และสู้ต่อไปให้ได้

ธุรกิจค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน ทั้งผู้ค้าที่เป็นผู้ประกอบเครื่องในประเทศ หรือโลคัลแบนด์ หรืออินเตอร์แบรนด์ ต่างก็หาทางออกเพื่อเป็นทางรอดให้แก่ตัวเอง ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีมุมมองที่ต่างกัน แต่ภาพโดยรวมยังเชื่อว่าตลาดยังไปได้

อินเทอร์เน็ตตัวผลักดัน

นายปวิณ วรพฤกษ์ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์และการตลาด กลุ่มธุรกิจเพอร์ซัลแนล ซิสเต็มส์ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) หรือเอชพี กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดคอมพิวเตอร์ทั้งคอนซูเมอร์และคอมเมอร์เชียลยังมีฐานที่ใหญ่ เพราะจะเห็นได้จากจำนวนประชากรของไทยที่มีประมาณ 65 ล้านคน มีการใช้คอมพิวเตอร์เพียง 11% เท่านั้น และจากการประเมินของไอดีซีที่ระบุว่า ปีนี้จะยอดขายพีซีโดยรวมอยู่ที่ 1.1 ล้านเครื่อง มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอยู่ที่ 9 แสนเครื่อง จะเห็นได้ว่าตลาดตรงนี้ยังมีขนาดใหญ่

ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ อาจจะกระทบบ้างในกลุ่มคอนซูเมอร์ ที่อาจจะขาดความเชื่อมั่นในเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ก็มีเครื่องรุ่นใหม่ๆ ออกมาในราคาที่มีให้เลือกหลากหลาย หรือตลาดที่กระทบคือภาคราชการที่อาจจะมีการชะลอการลงทุน แต่ที่เป็นคอมเมอร์เชียลยังจะไปได้ดี

ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันคือ 1.มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น 2.ภาคการศึกษาที่มีการสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาใช้คอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนการสอนมากขึ้น 3.องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการมีมากขึ้น และมีความต้องการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“โดยภาพรวมแล้ว 2 กลุ่มในตลาดคือเอ็ดดูเคชัน เอสเอ็มอียังมีโอกาสโตสูง ถึงแม้ค่าครองชีพจะสูง น้ำมันจะแพง ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นไปบ้างก็ตาม เชื่อตลาดยังไปได้ไม่ว่าจะเป็นไตรมาสนี้ ไตรมาสหน้า หรืออย่างไตรมาสที่ผ่านมาตลาดก็มีการเติบโต”

โลคัลแบรนด์ได้ตลาดองค์กรทดแทน

ด้านนายนิธิพัฒน์ ลิ่มวานิชรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป เอเทค คอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบเครื่องโลคัลแบรนด์ กล่าวว่า ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมายังมีอัตราการโตดีเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่ตลาดค่อนข้างเงียบเงา

แต่ในยุคเศรษฐกิจเช่นนี้ ตลาดที่มีผลกระทบคือกลุ่มคอนซูเมอร์ แต่ยังมีตลาดองค์กรเข้ามาแทนที่ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐหรือเอกชน และภาพโดยรวมของตลาดจากนี้ไปจนถึงไตรมาส 3 เชื่อว่ายังไปได้ดี เพราะอย่างช่วงไตรมาส 3 ราชการจะปิดงบประมาณ และต้องมีการนำงบที่จัดเตรียมไว้มาใช้

“ตลาดองค์กรไม่ค่อยได้รับผลกระทบ ซึ่งเรามีส่วนนี้มาทดแทนตลาดคอนซูเมอร์”

ตลาดทั่วเอเชียแปซิฟิกยังไม่กระทบ

ทั้งนี้ โดยภาพรวมของการสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจของไอดีซีในช่วงไตรมาสแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอพีรอบปีนี้พบว่า การจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนบุคคลหรือพีซีในเอเชียแปซิฟิกไม่รวมประเทศญี่ปุ่น มีอัตราการโต 19% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2550 หรือมีจำนวน 17 ล้านเครื่องในไตรมาสแรกของปี 2551 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 2% โดยโน้ตบุ๊กยังมีสัดส่วนมากที่สุด คือมากกว่า 2 หลักเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ซึ่งส่งผลให้ตลาดโน้ตบุ๊กมีอัตราการเติบโตสูงถึง 54% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยยี่ห้อ เลอโนโว ยังคงครองตำแหน่งผู้ที่มียอดจำหน่ายสูงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคนี้ ถึงแม้จะลดลงไปบ้างในช่วงตรุษจีน

นายไบรอัน มา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านระบบ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ประจำไอดีซีเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าเอเชียเป็นตลาดที่สดใส หากว่ามี เหตุการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอีกก็อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดการส่งออกขนาดใหญ่ของภูมิภาคนี้ ในครึ่งปีหลังได้ แต่ขณะนี้ไอดีซี เชื่อว่าตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในเอเชียแปซิฟิกจะยังคงดำเนินไปตามปกติโดยมีอัตราการเติบโต 17% ในปี 2551 โดยเฉพาะโน้ตบุ๊กจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อน ที่ทำให้ตลาดเติบโตต่อไป

Company Related Links :
HP
ATEC
IDC
กำลังโหลดความคิดเห็น