พันธวณิชหวั่นพิษเศรษฐกิจทำธุรกิจประมูลออนไลน์พัง เผยตั้งแต่เม.ย.ที่ผ่านมามีการยกเลิกกว่า 22% คิดเป็นมูลค่าถึง 6,000 ล้านบาท พร้อมแนะกระทรวงพาณิชย์ และกรมบัญชีกลาง ควรปรับการคิดราคากลางใหม่ ที่จะสะท้อนราคาที่แท้จริงในตลาด
พ.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พันธวณิช ผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์( e-Marketplace) และบริการด้านการจัดซื้อ e-Procurement Solution Provider กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการในหลายภาคอุตสาหกรรมรวมถึงผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว ทำให้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากการพูดคุยกันในกลุ่มผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์พบว่าอัตราการยกเลิกการประมูลปรับตัวสูงขึ้น โดยในเดือนเมษายนอัตราการยกเลิกการประมูลของพันธวณิชจะอยู่ที่ประมาณ 7-8% แต่ในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน อัตราการยกเลิกการประมูลกลับปรับตัวสูงขึ้นเป็น 19-22% โดยงานประมูลที่ถูกยกเลิกไประหว่างช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมาถือว่าสูงผิดปกติ
ผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ไม่เข้ามาซื้อซองประกวดราคา เนื่องจากไม่สามารถเสนอราคาตามราคากลางที่กำหนดโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน การขนส่ง และวัสดุอุปกรณ์ ทำให้หน่วยงานต้องยกเลิกการประมูลนั้นไป
พันธวณิชกังวลกับปัญหาดังกล่าวและอยากจะเสนอแนะแนวทางที่น่าจะช่วยลดอัตราการยกเลิกการประมูลลง โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกรมบัญชีกลาง น่าจะปรับการคิดราคากลางใหม่ซึ่งจะสะท้อนราคาที่แท้จริงในตลาดปัจจุบัน การปรับสูตรสัญญาแบบปรับราคาได้ที่สะท้อนต้นทุนวัสดุที่เพิ่มขึ้นตามจริง หรือการใช้บทเฉพาะกาล ซึ่งการปรับราคากลางจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นประมูลงานใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะมีการผลักดันให้มีการเร่งรัดการใช้งบประมาณผ่านการประมูลออนไลน์ตั้งแต่ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2552 เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากราคาน้ำมันและต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการจะมีเวลาในการสั่งซื้อสินค้าเตรียมไว้ล่วงหน้า และยังช่วยให้มีการกระจายงบประมาณลงไปในระบบและจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต
พ.อ.รังษีกล่าวว่า ยังมีประเด็นเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปี 2549 ที่ภาครัฐควรที่จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผ่านมาทางชมรมผู้ให้บริการตลาดกลางเคยได้นำเสนอปัญหาพร้อมแนวทางการดำเนินการแก้ไขระเบียบดังกล่าวกับทางกรมบัญชีกลางในเรื่องสถานที่ประมูลและการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการริบหลักประกันซองเสนอราคา ในประเด็นของสถานที่ประมูล เนื่องจากการที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทางกรมบัญชีกลางควรเพิ่มวงเงินขั้นต่ำสำหรับการประมูลที่ต้องประมูลในสถานที่เดียวกันเป็น 10 ล้านบาท ส่วนการประมูลที่มีวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทจนถึง 10 ล้านบาท ควรที่จะเปลี่ยนมาใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปี 2548 ที่ผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากสถานที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานที่ประมูลแทน ซึ่งจะสามารถช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการประมูลได้จำนวนมาก ตลอดจนช่วยย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากการที่ผู้เสนอราคาไม่ต้องเดินทางมายังสถานที่ประมูล รวมถึงดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย
พร้อมกันนี้ ผู้บริหารพันธวณิชกล่าวว่า พันธวณิชนน่าจะหาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการริบหลักประกันซองเสนอราคาว่าด้วยระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปี 2549 ที่กำหนดว่าหากผู้เสนอราคาไม่ส่งผู้แทนเข้าลงทะเบียนเพื่อเสนอราคาตามวัน เวลาและสถานที่ ที่กำหนด ไม่ทำการ log in เข้าสู่ระบบ หรือ log in เข้าสู่ระบบแต่ไม่มีการเสนอราคา ตลอดจนไม่ลงลายมือชื่อเพื่อยืนยันราคาสุดท้ายในการเสนอราคา ให้ทางหน่วยงานผู้ซื้อจะสามารถยึดหลักประกันซองเสนอราคาได้
พันธวณิชได้เสนอกรมบัญชีกลางให้ยกเลิกการริบหลักประกันซองเสนอราคาสำหรับกรณีที่ผู้เสนอราคาไม่สามารถมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาได้ตามวัน เวลา และสถานที่ ที่กำหนดไว้ เนื่องจากหลักประกันซองนั้นมีมูลค่าสูงมาก ผู้เสนอราคาบางรายอาจพบกับเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ หรืออาจมาสายกว่าระยะเวลาลงทะเบียนที่กำหนดเพียงแค่ 5 นาที ทำให้ถูกริบหลักประกันซองเสนอราคา ซึ่งการถูกริบหลักประกันซองในงานประมูลที่มีมูลค่าสูงมากๆ อาจส่งผลกระทบถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ทำให้ไม่มีเงินสดหมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยทางชมรมผู้ให้บริการตลาดกลางเสนอไม่ให้มีการริบเงินจากหลักประกันซองทั้งหมด แต่อาจริบเงินเพียงจำนวนหนึ่ง เช่น 1% ของหลักประกันซอง ซึ่งมีมูลค่าน้อยกว่าแทนสำหรับกรณีนี้ โดยการแก้ไขระเบียบในประเด็นนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ สนใจที่จะเข้าร่วมการประมูลมากขึ้น
พ.อ.รังษี ตั้งข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ยังคงงานที่ประมูลอีกจำนวนหนึ่งที่ประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2551 แต่ยังไม่ได้ทำสัญญากับทางหน่วยงานราชการ ซึ่งทำให้ผู้ชนะการประมูลประสบความเดือดร้อน และยังทำให้เงินงบประมาณสำหรับงานดังกล่าวไม่ได้รับการเบิกจ่ายและกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ชนะการประมูลเกิดความไม่แน่ใจที่จะเข้าร่วมงานประมูลอีกต่อไป
“ถ้าหากหน่วยงานภาครัฐมีการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่ชมรมผู้ให้บริการตลาดกลางเคยได้เสนอไว้ ก็น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและทำให้ผู้ประกอบการกลับมาเข้าร่วมงานประมูลมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราการยกเลิกงานประมูลลดลง”
Company Related Links :
พันธวณิช