xs
xsm
sm
md
lg

ไอบีเอ็มเผยอาเซียนลงทุนCSRเร็วสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอบีเอ็มเผยผลสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกในปี 2008 กว่า 1,100 คน ภายใต้การศึกษาที่มีชื่อว่า Global CEO Study 2008: The Enterprise of the Future เพื่อศึกษาถึงความท้าทายที่ CEO ทั่วโลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน พร้อมข้อแนะนำในการเผชิญความท้าทายดังกล่าวและเพื่อการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ชี้ซีอีโอในอาเซียนลงทุนด้าน CSR เร็วกว่าชาติอื่นๆ

นายสตีเว่น เดวิดสัน รองประธาน ฝ่ายให้คำปรึกษาทางด้านกลยุทธ์และการเปลี่ยนแปลง ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและจีน กลุ่มธุรกิจให้คำปรึกษา บริษัท ไอบีเอ็ม กล่าวว่า  จากผลการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกประจำปี 2008 พบว่าซีอีโอมีการบูรณาการทั่วโลก กระจายอำนาจ และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ที่น่าสนใจคือ ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกกำลังเพิ่มการลงทุนในกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) ในอัตราที่รวดเร็วกว่าซีอีโอในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

การสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกประจำปี 2008 ของไอบีเอ็ม นับเป็นงานวิจัยระดับโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับซีอีโอ 1,130 คนจาก 40 ประเทศใน 32 อุตสาหกรรม รวมถึงซีอีโอ 400 คนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ข้อมูลการวิเคราะห์ในส่วนของเอเชียแปซิฟิกระบุว่า ซีอีโอในภูมิภาคนี้ยืนยันว่า กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับการวางรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสจากสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ ที่ประกอบด้วยลูกค้า ที่บริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านหลากหลายช่องทาง และซีอีโอเหล่านี้ยังเพิ่มการลงทุนทางด้าน CSR ในอัตราที่รวดเร็ว โดยอัตราการลงทุนอยู่ที่ 42%เทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลก 25%

“ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างจริงใจ  และกว่า 80%ของซีอีโอในภูมิภาคนี้เชื่อว่า ลูกค้ามีความคาดหวังที่สูงขึ้นเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจขององค์กรเหล่านี้ เปรียบเทียบกับ 69%ของซีอีโอทั่วโลก  ซีอีโอในภูมิภาคนี้มองว่ากิจกรรมเพื่อสังคมเป็นองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจในการสร้างความแตกต่างและกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจ”  

นอกจากนี้ ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิก 84% มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างกว้างขวางในช่วง 2 ปีข้างหน้า

นายเดวิดสันกล่าวว่า แม้ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกมีความเชื่อมั่นมากกว่าซีอีโอในภูมิภาคอื่นๆ ในด้านความสามารถที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร แต่ก็ยังมีช่องว่างที่น่าเป็นห่วงอยู่ คือ ช่องว่างระหว่างปริมาณการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น กับความสามารถในการจัดการการเปลี่ยนแปลง

Company Related Links :
IBM
กำลังโหลดความคิดเห็น