xs
xsm
sm
md
lg

"นักธุรกิจพลังงาน" ร้อง ปปง. สอบธนาคาร ร่วม บ.เอกชน ปลอมเอกสารกู้เงิน จนเป็นหนี้ร้อยล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "ทนายไพศาล" ควงนักธุรกิจด้านพลังงาน ผู้เสียหาย ยื่นเอกสารต่อ ปปง. ตรวจสอบฐานฟอกเงิน ปมแบงก์ร่วม บ.เอกชน ปลอมเอกสารปล่อยกู้เงิน

วันนี้ (26 ก.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ พร้อมด้วย นายวงศ์วริศ ศุภปฐวีพงศ์ นักธุรกิจด้านพลังงาน ผู้เสียหาย เข้ายื่นหนังสือถึง นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ให้ตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อแบบผิดปกติของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง หลังจากพบว่าแค่เปิดบัญชีก็สามารถเป็นหนี้หลายร้อยล้านได้ เพื่อขอตรวจสอบความผิดฐานฟอกเงิน โดยมี นายพีรธร วิมลโลหการ ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ ในฐานะรองโฆษก ปปง. เป็นผู้แทนรับเรื่อง

ทนายไพศาล กล่าวว่า บริษัทผู้เสียหายกับบริษัทเอกชนอีกแห่งได้เปิดบัญชีทำกิจการร่วมค้ากับสถาบันธนาคารแห่งหนึ่งเพื่อทำกิจการร่วมกัน แต่ต่อมา บริษัทเอกชนแอบไปกู้ธนาคาร และเงินเข้าบัญชีบริษัทเอกชนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับบริษัทผู้เสียหาย แต่เป็นบริษัทย่อยในธุรกิจที่มีธนาคารดังกล่าวถือหุ้นส่วนอยู่ เข้าตำรา “อัฐยายซื้อขนมยาย” หรือไม่ โดยบริษัทผู้เสียหายไม่ทราบจนเป็นหนี้หลักร้อยล้านบาท ทั้งๆ ที่บริษัทผู้เสียหายไม่ได้ยื่นกู้ และมีการปลอมตราประทับบริษัทผู้เสียหาย รวมทั้งไม่มีลายเซ็นผู้เสียหาย แต่ธนาคารกลับปล่อยกู้อนุมัติสินเชื่อเป็นร้อยล้านบาท หรือสโลแกน ”เปิดบัญชีผิด ชีวิตเปลี่ยน เป็นหนี้ไม่รู้ตัว“

ทนายไพศาล กล่าวอีกว่า ธนาคารดังกล่าวจะให้เพียงไม่กี่บริษัทกู้เงินค่อนข้างง่ายแต่กลับเป็นประชาชนทั่วไปเมื่อยื่นขอกู้ธนาคารแสนลำบาก อ้างคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์จึงต้องไปพึ่งพวกแก๊งหมวกกันน็อคจนมีปัญหาสังคมตามมามากมาย โดยผู้เสียหายเป็นถึงนักธุรกิจยังถูกหลอกทำให้ติดเครดิตบูโร เสียโปรไฟล์ในการยื่นสัมปทานต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ถูกธนาคารดังกล่าวกระทำ มูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้านบาท แต่ไม่มีใครกล้าออกมานำเสนอฝากถึง รมว.คลัง , ธนาคารแห่งประเทศ และ นายกฯ ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการฟ้องร้องอยู่ในชั้นศาล 4-5 คดี

ด้าน นายวงศ์วริศ เผยว่า บริษัทตนและบริษัทเอกชนเปิดบัญชีทำกิจการร่วมค้า วงเงินเข้าบัญชี 300 ล้านบาท และหมดสัญญาปลายปี 61 จากนั้นปี 63 บริษัทมายื่นกู้เงินกับธนาคารอีกสถาบันเพื่อประมูลงาน พบว่ามีหนี้อยู่ก้อนหนึ่ง จึงสอบถามกลับธนาคารเดิมจึงทราบว่า เมื่อช่วงปี 62 บริษัทคู่สัญญามาแอบกู้เงินในนามบริษัทร่วมกัน มีการปลอมแปลงเอกสารบริษัท และไม่มีใบมอบอำนาจแต่อย่างใด มีเพียงใบบันทึกข้อตกลงร่วมกู้เท่านั้น และบริษัทตนกับบริษัทเอกชนดังกล่าวร่วมโครงการกันเพียงโครงการเดียว จึงทำให้เกิดหนี้และสูญเสียโอกาสในการยื่นสัมปทานต่างๆ ซึ่งบริษัทเอกชนยังท้าทายให้ไปฟ้องเอาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น