xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ลุยจับ 13 จุด ล้างบาง จนท.รัฐ ออกหนังสือเอื้อนายทุนครอบครองดิน ส.ป.ก.โคราช กว่า 600 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ด่วน! “บิ๊กเต่า” จับมือ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เปิดปฏิบัติการ ลุยค้น 13 จุด ล้างบางเจ้าหน้าที่รัฐ ออกหนังสือให้นอมินีครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โคราช กว่า 600 ไร่ เอื้อนายทุนโรงงาน ใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำเสีย



เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 20 มิ.ย. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พร้อมด้วย นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมานกองปราบ เจ้าหน้าที่ บก.ทล. เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 13 จุด ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา, อุดรธานี และ กรุงเทพมหานคร เพื่อจับกุมผู้ต้องหาขบวนการทุจริตออกใบอนุญาตที่ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 4 ราย

ประกอบด้วย นายอัครเดช เรียนหิน อายุ 56 ปี เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา นางวิไลลักษณ์ บุตรดา อายุ 53 ปี เจ้าหน้าที่นิติกรชำนาญการพิเศษ นายปรีชา ประภานุกูล อายุ 61 ปี เจ้าหน้าที่นายช่างสำรวจอาวุโส และ นายโชคศักดิ์ มณีจันทรา อายุ 54 ปี เจ้าหน้าที่นายช่างรังวัด ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 นายกฤษฎา อินทามระ หรือ ทนายปราบโกง ได้เข้าร้องขอให้ทางตำรวจ บก.ปปป. ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมของ เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก จังหวัดนครราชสีมา หลังเชื่อว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยปะละเลยให้โรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ ปล่อยน้ำเสียลงพื้นที่ ส.ป.ก.โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ กับโรงงานดังกล่าว

ต่อมาภายหลังรับเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติของกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวหลังพบว่า มีการฉ้อฉล เร่งรัดดำเนินการออกหนังสือ ส.ป.ก.ให้กับชาวบ้านรวม 13 ราย เพื่อปกปิดความผิดของบริษัท เพื่อให้การปล่อยน้ำเสียลงที่ดินของ ส.ป.ก. เป็นการปล่อยน้ำเสียลงพื้นที่ของชาวบ้าน จนเป็นเหตุทำให้ที่ดินของรัฐ (ส.ป.ก.) ได้รับความเสียหายเกือบ 600 ไร่ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ออกหมายจับเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำผิดทั้ง 4 ราย ดังกล่าว

โดยแผนประทุษกรรมของกลุ่มเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะอยู่กระบวนการขั้นออกหนังสือ ส.ป.ก.ให้กับชาวบ้านเพื่อใช้เป็นนอมินี หลังพบความผิดปกติหลายอย่าง อาทิ ไม่ได้มีการรังวัดที่ดิน ตามการนำชี้ของผู้ครอบครองทำประโยชน์ แต่เป็นการแบ่งแปลงเองของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. รวมถึงวันที่มีการรังวัด สอบสวนสิทธิที่ดินกว่า 600 ไร่ นั้น ยังทำภายในวันเดียวกัน อีกทั้งยังพบว่ามีการให้เกษตรกร ที่เป็นผู้ถึอครองแทน หรือ นอมินี ลงนามรับรองผลการรังวัดไว้ก่อนที่จะมีการรังวัด จากนั้นจึงจัดทำเอกสารเท็จขึ้นมา

นอกจากนี้ ยังพบว่า ไม่มีการตรวจสอบความเป็นเกษตรกรของผู้ที่จะเข้ามาถือครอง ซึ่งบางรายพบว่าเป็นพนักงานโรงงาน บางรายไม่มีคุณสมบัติชัดเจน เช่นไม่ใช่ญาติของผู้กระจายสิทธิ และ ไม่ได้เป็นเกษตรตามข้อกำหนด อีกทั้งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพที่ดินที่ ออกเป็น ส.ป.ก.4-01 นั้น ส่วนใหญ่พบเป็นบ่อน้ำเสียเต็มพื้นที่ ไม่เหมาะสมในการนำมาจัดให้เกษตรกร รวมถึงยังพบร่องรอยการลงนามเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ มีการเร่งรัดข้ามขั้นตอน และบันทึกข้อมูลอันเป็นเท็จ

โดยเป้าหมายสำคัญจุดแรกอยู่ที่บ้านเลขที่ 789 ม.12 ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านพักของนายปรีชา ประภานุกูล อายุ 61 ปี หนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหา มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่นายช่างสำรวจอาวุโส แต่ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านพักปรากฎเจ้าตัวไม่อยู่บ้าน สอบถามคนในบ้านทราบว่าออกจากบ้านพักไปตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยไปวิ่งออกกำลังกายอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อยู่ห่างจากบ้านพักราวๆ 6 กิโลเมตร จึงนำกำลังตามไปจับกุมตัวได้ดังกล่าว ส่วนรายละเอียดการเข้าตรวจค้นจับกุมในจุดอื่นๆจะมีการสรุปผลแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง


ต่อมาเวลา 08.30 น. นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปฏิบัติการจับกุมเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันกับทางตำรวจ เพื่อปราบปรามข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมา ระดับสูงได้จำนวน 4 ราย ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่ นายกฤษฎา อินทามระ หรือ ทนายปราบโกง ได้ออกมาเปิดโปงปัญหาโรงงานแป้งมันสำปะหลังลักลอบปล่อยน้ำเสียลงที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 600 ไร่ ซึ่งเราได้มีการสืบสวนสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงมานานกว่า 5 เดือน

นายธนดล กล่าวต่อว่า ปกติแล้วการออกหนังสือที่ดิน ส.ป.ก. จะใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน แต่ในกรณีกลับพบว่าใช้เวลาเพียงแค่เดือนเศษๆ ซึ่งถือว่าเร็วมาก เร็วผิดปกติ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้เลือกปฏิบัติ ทำให้เฉพาะกลุ่มนายทุน หรือ คนรวย อีกทั้งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบก็พบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถใช้ทำการเกษตรเลี้ยงปลาได้ เนื่องจากสภาพน้ำเน่าเสียเกินกว่าที่ปลาจะอาศัย ส่วนบุคคลที่เข้ามาเป็นนอมินีถือครอง จากการตรวจสอบพบว่าเป็นพนักงานกับอดีตพนักงานโรงงานที่ปล่อยน้ำเสีย แต่จะมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรจริงๆหรือไม่นั้นอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ

“ยืนยันว่า ไม่ว่านายทุนหรือผู้อยู่เบื้องหลังจะเป็นใคร หากพบผิดหรือเกี่ยวข้องไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีมวยล้มต้มคนดู ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มผู้ต้องหาที่จับกุมในวันนี้ จากแนวทางสืบสวนพบว่ามีการทำกันเป็นขบวนการ โดยใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในการกระทำผิด และจะเร่งขยายผลหาความเชื่อมโยงไปยังเจ้าหน้าที่รัฐรายอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกออกหมายจับ คาดว่ามีอีกประมาณ 5 ราย เป็นข้าราชการระดับ ซี 7 และ 8” นายธนดล กล่าว

นายธนดล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการสอบสวน ทางตำรวจ บก.ปปป. จะเร่งประสานไปยัง ปปง. เพื่อขยายผลยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มนี้ พร้อมเตรียมขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่อหาความเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มนายทุน ซึ่งข้อมูลที่อยู่ตอนนี้ทราบว่ามีการโอนเงินให้ลูกสาวของผู้ต้องหา อยู่ระหว่างการตรวจสอยให้แน่ชัด ขณะที่ในส่วนของนอมินี ทั้ง 13 คน ทางเจ้าหน้าที่เตรียมเชิญตัวมาให้ปากคำ หากให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ก็อาจมีการพิจารณากันไว้เป็นพยาน

“เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผ่านมา ทราบว่า เคยมีการร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด และ หน่วยงานภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่กลับนิ่งเฉย จนตนต้องมาจับด้วยตนเอง” นายธนดล กล่าว

ด้าน ทนายกฤษฎา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากได้รับเรื่อวร้องเรียนจากชาวบ้าน ว่า โรงงานแป้งมันสำปะหลังดังกล่าวมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ที่ดิน ส.ป.ก. ช่วงแรกได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ก็นิ่งเฉย กระทั่งมาเจอ นายธนดล จึงได้ร่วมมือกันตรวจสอบจนพบว่ามีการใช้นอมินีเข้ามาถือครองที่ดิน อ้างเป็นเกษตรกรเลี้ยงปลา แต่พอได้สิทธิมากลับเอาพื้นที่ไปให้โรงงานใช้ปล่อยน้ำเสียแทน เพราะหากโรงงานสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียขึ้นมานั้นต้องใช้เงินกว่า 200 ล้าน ดังนั้น จึงใช้วิธีดังกล่าวนี้แทนเพื่อลดต้นทุน








กำลังโหลดความคิดเห็น