xs
xsm
sm
md
lg

“อนาคตไกล” หนุน กกต.แจงยุบพรรคถูกต้องแล้ว เย้ย “ก้าวไกล” เมาหมัด ออกอาการขั้นโคม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทนายณัษฐพล” มือกฎหมายพรรคอนาคตไกล ชี้ กกต.แถลงข้อกฎหมายยุบพรรคทำถูกต้องแล้ว เข้าเกณฑ์ ม.92 ยื่นต่อศาล รธน.โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวน เย้ย “ก้าวไกล” เมาหมัด ออกอาการขั้นโคม่า

วันที่ 14 มิ.ย.2567 ที่พรรคอนาคตไกล นายณัษฐพล ทิพย์อักษร ทนายความมือกฎหมายพรรคอนาคตไกล กล่าวว่า กรณีที่ นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้่ง (กกต.) พร้อมคณะ ได้ออกมาแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสังคมถึงการยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทำให้ประชาชนได้รับทราบ ตนให้ความรู้กฎหมายอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เห็นว่า การที่มีผู้ร้องยื่นคำร้องโดยตรงตามความในความมาตรา 92 และความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคคการเมือง ในความมาตรา 93 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แยกต่างหากจากกันอย่างชัดเจน ระหว่างการที่มีคนร้องและมีพยานหลักฐานชัดแจ้ง กับ นายทะเบียน กกต.พบเห็น หรือมีผู้ร้องแต่ข้อเท็จจริงยังไม่แน่ชัดต้องตรวจสอบ ดังนั้น โดยผู้ร้องยื่นคำร้องตามมาตรา 92 หาก กกต.เห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองฯ กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้ โดยไม่จำต้องไต่สวน

ซึ่งแตกต่างจากความปรากฏแก่นายทะเบียนพรรคการเมือง หากพิจารณาถึงการยื่นยุบพรรคก้าวไกล ผู้ร้องได้นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 วันที่ 31 มกราคม 2567 ที่วินิจฉัยว่า นโยบายการรณรงค์หาเสียงแก้ไข มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ผู้ถูกร้อง) เป็นการล้มล้างการปกครองฯ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามความในมาตรา 211 วรรคท้าย กรณีนี้มีผู้ร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลเพราะเหตุล้มล้างการปกครอง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) โดยนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบคำร้อง กกต.จะใช้ดุลพินิจอย่างอื่นไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 ผูกพันองค์กร เพราะหากบิดเบือนเป็นอย่างอื่น คนที่ติดคุก คือ กกต. กระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลไม่ได้ข้ามขั้นตอน เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายพรรคการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอ้างและออกมาตอบโต้ กกต. มีความเห็นว่าอย่างไร ทนายณัษฐพล กล่าวว่า จะเห็นว่า ช่วงระยะเวลาใกล้เข้ามาที่ศาลรัฐธรรมนูญธรรมนูญนัดพิจารณาวันที่ 18 มิถุนายน ศกนี้ ความระทึกตื่นเต้น ทำให้หัวใจเต้นถี่รัวๆ ของพลพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะ นายชัยธวัช หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สังเกตว่า จะมีอาการเมาหมัด มึน ที่ประดังเข้ามา ออกอาการมวยให้เห็นขั้นโคม่า แนวโน้มจะถูกยุบพรรคก้าวไกลสูง ออกอาการรั่ว โวยวายคู่กรณี คือ กกต. ให้ประชาชนพิจารณาว่า การอ่านกฎหมายและตีความกฎหมาย ใครเป็นศรีธนญชัย ตนเห็นว่า ที่ กกต.ออกมาชี้แจงเพื่อป้องกันการสับสนของประชาชน ไม่ใช่เล่นขายของ เพราะ กกต.เป็นองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนตามอำนาจและหน้าที่โดยสุจริตและเที่ยงธรรม คนที่อ่านรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง เป็น จะมีความรู้ความเข้าใจได้ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นการล้มล้างการปกครอง ศาลสั่งห้ามการกระทำตามมาตรา 49 ผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร

“โดยเฉพาะในมาตรา 211 วรรคท้ายไม่ใช่ผูกพันเฉพาะคู่ความให้หยุดกระทำ แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัย ที่ 3/2567 เสร็จเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการที่ผู้ร้องหยิบมายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามที่นายธวัชฯดิ้นและอ้างว่าผูกพันคู่ความนั้น ไม่ใช่ เป็นการอธิบายข้อกฎหมายที่เอาใจผู้สนับสนุน แต่เป็นการคลาดเคลื่อน ทำให้สังคมเข้าใจผิด”

เมื่อถามว่า ส่วนที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล โพสต์อ้าง 3 ข้อ โต้ กกต. มือกฎหมายพรรคอนาคตไกล กล่าวว่า คำวินิจฉัยกรณีล้มล้างการปกครองและกระทำปฏิปักษ์การปกครอง ที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว การยุบพรรคไทยรักษาชาติ สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานได้ ส่วนการยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกู้ยืมเงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในขณะนั้น เป็นกรณีความปรากฏแก่นายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนละกรณีกัน ดังนั้น เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าได้พรรคก้าวไกล เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) สามารถยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลได้ทันที โดยไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 93 ทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ ไม่ใช่เป็นประเด็นแห่งคดี

ส่วนการยื่นการยื่นคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นกรณีความปรากฏแก่นายทะเบียน เมื่อ กกต.ไม่ได้ออกระเบียบในการยุบพรรค จะต้องใช้ระเบียบการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (ขณะนั้น) โดยอนุโลม ปัจจุบัน ความปรากฏแก่นายทะเบียน กกต.ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 มาใช้บังคับแล้ว ดังนั้น หากเป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา 92 กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า กระทำการล้มล้างการปกครองฯ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนก็ได้กระบวนการดังกล่าวไม่ข้ามขั้นตอน

ส่วนที่ นายพิธา อ้างว่า ตามมาตรา 93 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทน” ก็เป็นการเท้าความถึงมาตรา 92 อยู่นั่นเอง ถ้าบอกว่ามาตรา 93 ไม่เกี่ยวกับมาตรา 92 แล้วตามวรรคสองของมาตรา 93 จะอ้างอิงมาตรา 92 ทำไม ดังนั้น มาตรา 92 กับ มาตรา 93 ต้องใช้ประกอบกัน แยกเป็นเอกเทศไม่ได้ ตนเห็นว่า ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง กับการผู้ร้องยื่นคำร้องโดยตรงให้ยุบพรรคเหราะมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองหรือกระทำปฎิปักษ์การปกครอง กระบวนการมีความแตกต่างจากกัน เหตุที่มาตรา 93 บัญญัติไว้ นายทะเบียนจะต้องรวบรวมหลักฐาน ไต่สวน ฟังความสองฝ่าย แต่กรณีของพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ว่า พฤติการณ์การกระทำเป็นการล้มล้างการปกครอง ดังนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อเข้าเกณฑ์มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) แล้ว กกต.ไม่จำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มาตรา 93 อีก ยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญได้เลย


กำลังโหลดความคิดเห็น