โฆษกอัยการ เผย อสส.เห็นชอบไม่ยื่นอุทธรณ์คดี หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองยกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” โยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” พ้นเก้าอี้เลขาฯ สมช.โดยมิชอบ
วันนี้ (27 มี.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดเห็นชอบควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษายกฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
คดีนี้อัยการสูงสุดรับดำเนินคดีอาญาฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.11/2565
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย
อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเห็นควรไม่อุทธรณ์ และจะได้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบและรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบการพิจารณาตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 79 วรรคสอง ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้อัยการสูงสุด โจทก์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งโยกย้าย และให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 57 วรรคสอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและเชื่อมโยงกับการโอนย้ายพลตำรวจเอก ว. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน และบรรจุแต่งตั้งพลตำรวจเอก พ. ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้ายหรือการให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง
นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวเพิ่มเติมว่า ตาม พ.ร.บประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบและรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบการพิจารณานั้น เมื่อ ป.ป.ช.ทำความเห็นก็จะส่งมาให้ อัยการสูงสุดพิจารณาอีกที ซึ่งความเห็นของ ป.ป.ช.นั้นไม่ผูกมัดอัยการสูงสุดว่าจะต้องเห็นตาม ทั้งนี้ ป.ป.ช.ไม่สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ได้เอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยในคดีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา ร้องขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่านางสาวยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้าย นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และหนังสือที่ นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับโอนไปนั้นไม่เป็นไปตามขั้นตอน อีกทั้งยังเห็นว่า กระบวนการโยกย้ายใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น โดยมีการออกเอกสารในวันอาทิตย์ ซึ่งไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการปกติ ดูแล้วเป็นการเร่งรีบอย่างผิดสังเกต ถือเป็นการกระทำที่รวบรัด ปราศจากเหตุผลอันสมควรที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการที่ย้าย นายถวิล เลขาธิการ สมช. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ คือ ความประสงค์ให้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ว่่างลง เพื่อโอนย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แทน อันจะทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง เพื่อย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการ และเป็นเครือญาติของนางสาวยิ่งลักษณ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน
คำวินิจฉัยดังกล่าว ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2557 ก่อนที่จะเกิดการรัฐประมาณ วันที่ 22 พ.ค. 2557 หรืออีก 15 วันต่อมา