xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : 'วุฒิสภา' ไม่ทันเกมรัฐบาล เจอเขี้ยว เตะถ่วงซักฟอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ตอน 'วุฒิสภา' ไม่ทันเกมรัฐบาล เจอเขี้ยว เตะถ่วงซักฟอก



การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 กำลังจะเจอโรคเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด ภายหลังท่าทีของรัฐบาลต้องการให้เปิดอภิปรายไปในช่วงเดือนมีนาคมแทน จากเดิมที่ ส.ว.ทั้ง 98 คนคาดว่าจะสามารถเปิดอภิปรายได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลใช้อ้าง คือ คณะรัฐมนตรีมีภารกิจค่อนข้างมาก และหลายประเด็นที่ส.ว.เตรียมอภิปรายตามที่บรรจุเข้ามาในญัตติส่วนใหญ่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการเงินดิจิทัล เป็นต้น

ซึ่งในแง่นี้ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม รองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ระบุว่า ถ้าดูเนื้อหากันจริง ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะมาอภิปรายเรื่องอะไร และเป็นครั้งแรกด้วย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ สว.ขออภิปรายรัฐบาลโดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 153 และใช้ข้อบังคับของวุฒิสภา 171 ซึ่งเป็นสิทธิ แต่หากถามว่าช้าไปหรือไม่ก็ไม่ถึงกับช้า ก็ต้องเห็นใจนายกรัฐมนตรีและ ครม. เนื่องจากต่างคนต่างมีภารกิจที่จะแก้ปัญหา ดังที่ทราบว่านายกฯ ก็ไม่ได้พักผ่อนเลยจนล้มป่วย เพราะท่านพยายามที่จะแก้ปัญหาในทุกมิติ

ท่าทีที่ออกมาจากรัฐบาลทำให้ส.ว.จำนวนหนึ่งไม่พอใจพอสมควร โดยเฉพาะนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.และรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ถึงออกมาโวยว่า เรายกร่างหนังสือมาและทำตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ดังนั้นการที่รัฐบาลจะมาตอบเราปลายเดือน มีนาคมเป็นต้นไป หรือปล่อยให้เราหมดวาระการดำรงตำแหน่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการละเลยการทำหน้าที่ที่ดีของรัฐบาล

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าส.ว.จะเป็นฝ่ายยื่นญัตติเสนอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอเปิดอภิปรายก็จริง แต่ในทางการเมืองแล้วส.ว.ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ได้เปรียบเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากการขอเปิดอภิปรายตามมาตรา 153 ไม่ได้มีสภาพบังคับทางกฎหมาย หมายความว่า ต่อให้ยื่นญัตติแล้ว รัฐบาลก็ย่อมชักแม่น้ำทั้งห้ามาเป็นเหตุผลเพื่อขอเลื่อนการอภิปรายต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนด

ต่างจากการยื่นญัตติเพื่อขออภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดสภาพบังคับกลายๆว่า ถ้ารัฐบาลหนีการซักฟอก จะมีผลให้นายกรัฐมนตรีไม่อาจใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้

อีกทั้ง การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเหมือนศึกแห่งศักดิ์ศรีด้วย หากรัฐบาลหลังพิงเชือกและหลบฉากหนีฝ่ายค้านไปเรื่อยย่อมเสียรังวัดในทางการเมืองโดยปริยาย ตรงนี้เองจึงเป็นช่องว่างให้รัฐบาลสามารถปฏิเสธวุฒิสภาได้อย่างไม่ต้องแคร์ความรู้สึกมากนัก

อย่างไรก็ตาม มองเหตุผลเบื้องหลังของรัฐบาลที่พยายามตีกรรเชียงหนีวุฒิสภานั้น ย่อมแฝงไปด้วยเรื่องการเมืองพอสมควร โดยเฉพาะต้องยอมรับว่าวุฒิสภากับรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้ญาติดีต่อกันเท่าใดนัก แม้ว่าจะมีบางส่วนที่ลงมติโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ตาม

พื้นเพของวุฒิสภาชุดนี้จำนวนไม่น้อยมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีอุดมการณ์เป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณมาโดยตลอด และระยะหลังมานี้ภายหลัง 'ทักษิณ ชินวัตร' ได้กลายเป็นนักโทษพิเศษชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้ส.ว.เริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจและพยายามใช้กลไกของคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา ตรวจสอบเพื่อเค้นความจริงของชั้น 14 ออกมาให้มากที่สุด เรียกได้ว่าส.ว.ชุดนี้ทำหน้าที่เสมือนฝ่ายค้านในวุฒิสภา

ขณะที่ รัฐบาลมองในมุมของตัวเองว่าหากเปิดการอภิปรายในเวลานี้อาจไม่ได้เป็นผลดีกับตัวเองมากนัก เนื่องจากต้องยอมรับว่าผลงานของรัฐบาลในเวลานี้ยังไม่มีอะไรที่จับต้องได้มากนัก โดยเฉพาะนโยบายเรือธงของรัฐบาลทั้งโครงการเงินดิจิทัล หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ล้วนแล้วแต่เป็นวิมานในอากาศแทบทั้งสิ้น เพราะตามแผนเดิมของรัฐบาลต้องการเร่งร่างกฎหมายงบประมาณปี 2567 ซึ่งเป็นงบประมาณที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำตั้งแต่แรก ให้ผ่านสภาเร็วที่สุด เพื่อเตรียมเสนอร่างกฎหมายงบประมาณปี 2568 เข้าสภาในสมัยประชุมหน้า ซึ่งร่างกฎหมายงบประมาณฉบับหลังจะเป็นปุ๋ยที่ทำให้ผลงานของรัฐบาลออกดอกออกผลมากที่สุด

ทั้งนี้ แม้วิปรัฐบาลจะรับปากว่าเดือนมีนาคมอาจเปิดอภิปรายตามมาตรา 153 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการอภิปรายจะเกิดขึ้นจริง เพราะช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อด้วยต้นเดือนเมษายน เป็นห้วงเวลาที่พรรคร่วมรัฐบาลล็อคเอาไว้เพื่อเตรียมพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ 2567 ในวาระที่ 2 และ วาระที่ 3 ซึ่งใกล้กับวันปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 9 เมษายน 2567 ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ยากที่การอภิปรายจะเกิดขึ้น

ถึงวุฒิสภาชุดนี้จะนั่งอยู่ในตำแหน่งมาเป็นเวลานานและหลายคนมีตำแหน่งมาตั้งแต่ยุคคสช. แต่เมื่อมาเจอกับสนามการเมืองของจริง ต้องบอกว่าได้กลายเป็นผู้อาวุโสที่อ่อนประสบการณ์การเมืองโดยปริยาย

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น