xs
xsm
sm
md
lg

“วันชัย” ไม่ลงชื่อแต่ขอร่วมอภิปราย แจงไม่ค้านหรือหนุน แนะล่าชื่อ ส.ว.ให้เกิน 84 เป็นสิบ กันถอนชื่อภายหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วันชัย” ยันไม่ร่วมลงชื่อญัตติซักฟอกรัฐบาลตาม ม.153 แต่ขอร่วมอภิปรายด้วย เพราะไม่ได้คัดค้าน หรือสนับสนุน ชี้ แม้ได้รายชื่อครบ 84 คนแล้ว แต่ต้องให้เกินเป็นสิบ กัน ส.ว.ลังเลถอนชื่อ


วันนี้ (15 ม.ค.) นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงกระแสข่าวการล็อบบี้ ส.ว.ไม่ให้ลงชื่อเปิดอภิปรายทั่วไปไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ว่า เท่าที่ตนติดตามข่าวในเรื่องนี้ปรากฏว่า มีการล็อบบี้ที่จะให้สมาชิกลงรายชื่อก็มีจำนวนหนึ่งทั้งโทรศัพท์ ไลน์ และพูดคุยกันเพื่อที่จะให้มาร่วมลงชื่อ ให้ได้เกิน 84 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ของคณะที่ดำเนินการในเรื่องนี้ แม้แต่วันนี้ (15 ม.ค.) ก็ยังมีการติดต่อเชิญชวนกัน หลายคน หลายกลุ่ม หลายคณะให้มาร่วมลงชื่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยต่อการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้นก็มีอยู่ และเท่าที่ติดตามกลุ่มที่ยังอยู่กลางๆ และเฉยๆ รอดูท่าทีก็ยังมีอยู่ เพราะเห็นว่าระยะเวลาในการที่จะยื่นญัตติดังกล่าวยังมีเวลาเหลืออยู่ ขณะเดียวกัน ก็มีบางพวกบอกว่าที่แล้วมาไม่เคยใช้อาวุธนี้แล้วทำไมมาใช้ตอนนี้ จึงเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่

นายวันชัย กล่าวต่อว่า หากถามว่า กลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวมีลักษณะไม่เห็นด้วยมีการกระทำอะไรหรือไม่นั้น เท่าที่ตนเห็นเขาประเมินในช่วงแรกกันว่าอาจจะไม่ถึง 84 เสียง ฉะนั้น กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร แต่ระยะนี้เท่าที่ทราบประมาณ 77 หรือเกือบ 80 คน เหลืออีกไม่เกิน 6-7 คนก็จะครบ 84 คน แต่ไม่ได้หมายความว่า 6-7 คน แล้วจะพอ เพราะควรจะมีรายชื่อสนับสนุนเกิน 10 คน เราจะต้องประเมินไว้ว่าถึงเวลาใกล้ๆ ก็เป็นสิทธิ์ที่สมาชิกลงชื่อไปแล้ว หรืออาจจะมีเหตุผลอื่นถอนตัว ก็อาจจะทำให้ไม่ครบ 84 คนก็ได้

“เพราะฉะนั้น ในหลักปฏิบัติของคณะดำเนินการและที่มีการปรึกษาหารือกัน เราบอกว่าควรจะมีรายชื่อเกินอย่างน้อยเป็นสิบสิบคนกันเผื่อขาดเผื่อเหลือ ซึ่งคณะที่ทำก็ดำเนินการอยู่ แต่หากถามว่า ณ เวลานี้การเคลื่อนไหวว่ามีคนมาล็อบบี้ให้ถอนชื่อมีหรือไม่ก็ต้องตอบว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เขาก็อาจจะแสดง หรืออาจจะพูดคุยในลักษณะคนที่ล็อบบี้ให้ลงชื่อ ในขณะเดียวกันก็มีคนล็อบบี้ให้ไม่ลงชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีเหตุขัดแย้งอะไร ผมถือว่าใครจะรณรงค์ให้ได้เสียงมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของแต่ละกลุ่ม แต่เท่าที่ประเมิน รายชื่อจะขึ้นอีก 5-6 คน หรืออาจจะมีคนถอย ผมก็ยังคิดอยู่ว่ายังอยู่ในภาวะก้ำกึ่งเหมือนกัน” นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามว่า มีเหตุผลอะไรที่สว.ที่ไม่ร่วมลงชื่อ จะไม่ร่วมอภิปรายด้วย นายวันชัย กล่าวว่า อย่างที่ทราบ กลุ่มที่เขาไม่เห็นด้วยเขาบอกว่า รัฐบาลเพิ่งจะเริ่มทำงาน 3-4 เดือน งบประมาณปี 67 ก็ยังไม่ได้ใช้ และเราเป็นกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนให้มีรัฐบาลชุดนี้จึงควรเปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือ และใช้งบประมาณเสียก่อน ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะเร่งเครื่องในลักษณะตรวจสอบในขณะนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่หลายคนบอกว่ารัฐบาลเขายังไม่ได้ทำ เพราะยังมีกระบวนการต่างๆ อีกมาก หรือเรื่องอื่นๆ เขาก็มองว่าน่าจะให้โอกาสและเวลา ที่สำคัญที่สุดที่ตนบอกว่ากลุ่ม ส.ว.กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ในวุฒิสภา ถ้ากลุ่มนี้ยังไม่ค่อยขยับเท่าไหร่ การขับเคลื่อนในการดำเนินการเรื่องใดๆก็อาจจะไม่ง่ายนัก แต่เท่าที่ตนดูท่าทีของกลุ่มนี้ คือ 1. กลาง และ 2. ไม่เห็นด้วย ส่วนที่มีการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม ส.ว.พลเรือน กับ ส.ว.อิสระ

เมื่อถามว่า หาก ส.ว.สามารถอภิปรายตามมาตรา 153 ได้จริง คิดว่า ผลกระทบที่จะไปถึงรัฐบาลมีแค่ไหน นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่ประเมินการ เป็นเพียงได้มีการพูด สอบถามเท่านั้น เพราะในการที่ลงมติไม่ไว้วางใจเหมือน ส.ส.คงไม่มี แต่อาจจะเป็นโอกาสให้รัฐบาลได้ชี้แจงข้อสงสัย ดังนั้น ถ้ามองแบบบวกได้ทั้งสว.ที่แสดงท่าที ในข้อสงสัย เห็นด้วยไม่เห็นด้วยในข้อเสนอแนะนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ ขณะเดียวกัน ทำให้รัฐบาลได้โอกาสชี้แจงด้วย ซึ่งถือว่าได้ผลบวกด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ส.ว.กำลังถล่มรัฐบาล ส.ว.กำลังจะมองรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเรื่องอย่างนี้ก็มองได้ เพราะถ้าเป็นพวกกันเขาคงไม่ทำอย่างนี้ อาจจะตั้งเป็นกระทู้ ข้อปรึกษาหารือ หรือดำเนินการด้วยวิธีการอย่างอื่น มากกว่าที่จะอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ และตามรัฐธรรมนูญตามมตรา 153 ต้องการให้รัฐบาลมาชี้แจง แถลงข้อเท็จจริงประเด็นสำคัญอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเรื่องต่างๆ ที่เสนอไปเรามองว่าดาษดื่นเกินไป แต่ควรจะเอาประเด็นใหญ่ๆ สำคัญๆ สัก 1 เรื่อง ที่เปิดมาแล้วกระแทกสังคมได้ ดังนั้น หลายคนที่ไม่เห็นด้วยจึงมองว่าสิ่งที่จะเสนอเยอะเกินไป ยังไม่ใช่อารมณ์ร่วมอาจจะยังไม่มี

เมื่อถามว่า เรื่องชั้น 14 ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องชั้น 14 อาจจะเป็นประเด็นหนึ่ง แต่บางกลุ่มก็บอกว่า ประมาณเดือน ก.พ.กว่าที่ ส.ว.จะอภิปราย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็อาจจะได้พักโทษไปแล้ว เพราะครบ 6 เดือน ถ้าไปอภิปรายในเรื่องนี้เหตุการณ์ก็อาจจะผ่านไป แต่ถ้าวันนี้เดี๋ยวนี้อาจจะใช้ แต่เมื่อถึงวันอภิปรายจริงๆ ประมาณเดือน มี.ค. เรื่องนี้ก็จบไปแล้ว แปลว่าไม่ทัน ซึ่ง ส.ว.สามารถทำได้โดยการตั้งกระทู้หรือดำเนินการใดๆ เรื่องนี้ในสภาได้ ซึ่งก็มีคนอภิปรายไปแล้ว

“ส่วนตัวไม่ได้ลงชื่อในญัตติดังกล่าว เพราะผมเป็นกลุ่มกลางๆ ยังไม่ถึงขนาดไม่ได้เห็นด้วย และไม่ถึงสนับสนุน หรือคัดค้านเพราะต้องยอมรับว่า ถ้าเขาสามารถเปิดได้ ก็อาจจะร่วมอภิปรายด้วย ดังนั้น ผมต้องดูท่าทีต่อไป แต่เห็นว่า หากทำแล้วก็ต้องทำออกมาให้ดี และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นการตรวจสอบที่เข้มข้น มีเนื้อหาสาระจริงๆ ก็ทำไปเถอะ” นายวันชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น