xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๕๐)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพการ์ตูนล้อความพยายามแก้กฎหมายแต่ไม่สำเร็จของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

ในการทำความเข้าใจขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม ควรเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเบลเยี่ยมมีที่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1831 มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1993 และแก้ไขครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2012 แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ระบอบการปกครองที่เป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ แล้วว่า รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสามฉบับ อันได้แก่ ฉบับ ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830 นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากหลักการการปกครองของอังกฤษด้วย ที่ไม่เรียกว่าได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่อังกฤษปกครองด้วยรัฐธรรมนูญตามจารีตประเพณี
ผู้เขียนได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ. 1791 และฉบับ ค.ศ. 1814 ไปแล้ว ต่อไปจะได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับที่สามที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญของเบลเยี่ยม นั่นคือ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1830 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับต่อจากรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814
 
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1830 คือ หลังจากที่ฝรั่งเศสใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) อันหมายความว่า ฝรั่งเศสได้รื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาหลังจากที่ถูกโค่นล้มไปในปี ค.ศ. 1791-1792 เมื่อกลับมาปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบแปด พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกแห่งราชวงศ์บูร์บองได้ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 และทรงครองราชย์จนถึงปี ค.ศ. 1824 ก็สวรรคต ต่อมาเจ้าชายอาร์ตัว (Artois) พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบแปดได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ที่สองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ในพระนามพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ
 
 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเป็นผู้นำกลุ่มอุลตร้ารอยัลลิสต์ก่อนที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ กลุ่มอุลตร้ารอยัลลิสต์มีเป้าหมายสำคัญคือ ปกป้องจารีตประเพณีการปกครองของสามสถาบันหลักที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการยึดโยงความเป็นเอกภาพของฝรั่งเศส สามสถาบันหลักที่ว่านี้ คือ ศาสนา พระมหากษัตริย์และระบบอภิชนสืบสายโลหิต (nobility) เมื่อพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ทรงใช้พระราชอำนาจในการเสนอร่างกฎหมาย อันเป็นอำนาจตามมาตรา 15-17 แห่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 

ร่างกฎหมายสองฉบับที่ว่านี้ถือเป็นร่างกฎหมายแนวอัลตร้ารอยัลลิสต์

ร่างกฎหมายฉบับแรกเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับศาสนา หรือที่รู้จักกันในนามของ  “กฎหมายต่อต้านการหมิ่นศาสนา (the Anti-Sacrilege Act)”  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งปกป้องสถาบันศาสนา โดยกำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ที่เข้าข่ายหมิ่นศาสนาตามกฎหมายฉบับนี้
อันที่จริง ก่อนหน้ารัชสมัยพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ ได้เคยมีการเสนอร่างกฎหมายต่อต้านการหมิ่นศาสนานี้ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบแปดมาก่อนแล้ว โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 1824 พวกอัลตร้ารอยัลลิสต์ได้เสนอร่างกฎหมายนี้ต่อรัฐสภา แต่แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาล่างจะเป็นพวกอัลตร้ารอยัลลิสต์ก็ตาม แต่สภาสูงกลับไม่เห็นด้วย ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป

หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบขึ้นครองราชย์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1824 ฝ่ายรัฐบาลได้เสนอร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุผลความจำเป็นว่า มีการลักขโมยเครื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามากขึ้น อีกทั้งยังมีการแสดงออกซึ่งความไม่ใยดีหรือหมิ่นศาสนามากขึ้นด้วย ฝ่ายรัฐบาลได้กล่าวอีกด้วยว่า  “ถ้าจะทำให้ผู้คนเคารพกฎหมาย จะต้องทำให้คนเคารพนับถือศาสนาได้ก่อน”  โดยฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่า สาเหตุที่คนไม่เคารพกฎหมาย เพราะคนไม่สนใจให้ความสำคัญต่อศาสนา

ส่วนพวกเสรีนิยมต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยโต้แย้งว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดการผสมปนเปกันระหว่างการตัดสินของพระผู้เป็นเจ้ากับความยุติธรรมของมนุษย์ แต่สิ่งที่รัฐควรจะต้องทำคือ การปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงขัดกับรัฐธรรมนูญและละเมิดเสรีภาพทางความคิด และเป็นการให้ความสำคัญกับศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกเหนือศาสนาความเชื่ออื่นๆ ด้วย
 
หลังจากที่มีการอภิปรายต่อเถียงอย่างรุนแรงและยาวนาน ในที่สุด สภาสูงลงมติรับร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 127 ต่อ 96 และในสภาล่าง ด้วยคะแนนเสียง 210 ต่อ 95  

ส่วนร่างกฎหมายฉบับที่สองของพวกอัลตร้ารอยัลลิสต์เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการชดเชยความเสียหายทางทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ที่รัฐในช่วงปฏิวัติได้ยึดไปจากกลุ่มคนที่ถูกประกาศว่าเป็น “ศัตรูของการปฏิวัติ” และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายฉบับนี้คือพวกกระฎุมพีหรือชนชั้นทางเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้น 


การตรากฎหมายทั้งสองฉบับนี้ได้ส่งผลให้กระแสความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์และศาสนจักรตกต่ำลง จากที่ผู้คนเคยกระตือรือร้นในการรับเสด็จ กลับมีปฏิกิริยาที่เย็นชา และไม่แสดงการเคารพต่อพระองค์ เช่น ไม่ถอดหมวก เพราะการถอดหมวกเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการแสดงความเคารพต่อกษัตริย์ อีกทั้งยังแสดงออกซึ่งท่าทางที่น่ากลัว แม้ว่าจะไม่ถึงกับแสดงความเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน
 
จากปรากฎการณ์ที่แสดงออกถึงกระแสความไม่นิยมในสถาบันกษัตริย์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบได้เสนอกฎหมายควบคุมการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นตามสื่อสิ่งพิมพ์ แต่สภาไม่เห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพดังกล่าว และยืนยันให้รัฐบาลต้องถอนร่างกฎหมายนี้ออกไป

ต่อมา ได้มีการเสนอญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาล่าง และเสียงข้างมากได้ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1830 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบได้ใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ยุบสภา ซึ่งตามมาตรา 50 ได้บัญญัติให้พระราชอำนาจกษัตริย์ยุบสภาล่างได้ แต่จะต้องให้มีการประชุมสภาล่างใหม่ภายในสามเดือน ซึ่งหมายความว่า หลังจากยุบสภา จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างขึ้นและเปิดประชุมสภาโดยไม่เกินระยะเวลาสามเดือน แต่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบมีทีท่าที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นล่าช้าไปกว่าที่กำหนดไว้ และในขณะที่กระแสพวกเสรีนิยมได้รับการตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายรัฐบาลพระเจ้าชาร์ลสที่สิบก็พยายามหาเสียงสนับสนุนจากทั่วประเทศ

ต่อมาได้มีการเลือกตั้งขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 กรกฎาคม ค.ศ. 1830 (สองเดือนกว่าหลังยุบสภาวันที่ 30 เมษายน) แม้ว่าสมาชิกฝ่ายรัฐบาลอัลตร้ารอยัลลิสต์ได้เสียงข้างมากอย่างเฉียดฉิว แต่ก็มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยที่มีท่าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ
จากการที่ยังสามารถคงไว้ซึ่งเสียงข้างมากในสภาล่างได้ พระเจ้าชาร์ลที่สิบและรัฐบาลได้ริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ผ่านการตราพระราชกฤษฎาในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1830 ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814
 พระราชกฤษฎีการฉบับนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “พระราชกฤษฎีกาเดือนกรกฎาคม (the July Ordinances) สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาเดือนกรกฎาคมคือ ยุบสภาล่าง, ควบคุมเสรีภาพสื่อสิ่งพิมพ์ และกีดกันชนชั้นพ่อค้าชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีออกจากการเลือกตั้ง และให้มีการเลือกตั้งใหม่ 

ต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1830 ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาในหนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในกรุงปารีส

ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม ได้เกิดกระแสต่อต้านพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นจนนำไปสู่ปรากฎการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสหลัง ค.ศ. 1789 นั่นคือ  “การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (the July Revolution)  ที่ทำให้กษัตริย์ราชวงศ์บูร์บองต้องมีอันสิ้นสุดลง และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1830


กำลังโหลดความคิดเห็น