เมืองไทย 360 องศา
ชัดเจนเป็นครั้งแรกจากความเคลื่อนไหวล่าสุดระหว่างที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เวลานี้รักษาการนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 12 กันยายน โดยในการลงพื้นที่ดังกล่าว ที่น่าสังเกตก็คือ มีบรรดา ส.ส.จากพรรคเศรษฐกิจไทย มาร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
แม้ว่าในรายงานยังไม่ปรากฏภาพของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย มาร่วมต้อนรับ แต่มี นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย รวมไปถึง ส.ส.ของพรรคคนอื่นๆ เช่น นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก เขต 1 นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก เขต 3 นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา นายพรขัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาให้การต้อนรับด้วย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) จะลงสมัคร ส.ส.จังหวัดตาก พรรคเตรียมความพร้อมวางตัวผู้สมัครอย่างไร ว่า “พื้นที่ไหนที่พรรคเศรษฐกิจไทยส่งลง เราก็ไม่ลง ไม่เป็นอะไร รวมถึงในพื้นที่ภาคเหนือด้วย”
เมื่อถามว่า จะมีแนวโน้มกลับมารวมอยู่กับพรรค พปชร.เหมือนเดิมหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่เขา
เมื่อถามอีกว่า ไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ หากเขาจะขอย้ายกลับมาพรรค พปชร.เหมือนเดิม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่เขา ขอให้ถึงวันนั้นก่อน แล้วค่อยตอบสื่อ
จากความเคลื่อนไหวและการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดังกล่าว ทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่า อดีต ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ายออกไปจากพรรคไปพร้อมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ส่วนใหญ่กำลังจะย้อนกลับมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ อีกครั้ง และที่พอยืนยันให้เห็นได้ชัด ก็คือ ในจำนวน ส.ส.ที่มาต้อนรับ พล.อ.ประวิตร ในครั้งนี้ มี ส.ส.พะเยา มาร่วมต้อนรับด้วย นอกเหนือจาก ส.ส.กำแพงเพชร คือ นายไผ่ ลิกค์
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวออกมาเป็นสัปดาห์แล้วว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะนำทีม ส.ส.ที่เคยแยกตัวออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย จะหวนกลับมาพรรคพลังประชารัฐ อีกครั้ง โดยครั้งนั้นมีสื่อสอบถามเรื่องนี้กับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ โดย นายสมศักดิ์ ปฏิเสธว่า ไม่ทราบเรื่อง แต่ก็กล่าวว่า หากกลับมาก็ไม่มีปัญหา
สำหรับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ถือว่าเป็น “กลุ่มสามมิตร” ในพรรคพลังประชารัฐ และตามเส้นทางถือว่าเป็นคนละขั้วกับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส มาก่อน เพราะก่อนหน้านั้น การมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นการเบียดแย่งตำแหน่งของนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาก่อน รวมไปถึงข่าวการย้ายพรรคของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการพรรคคนปัจจุบันด้วย ซึ่งต่อมา นายสันติ รวมไปถึง นายสมศักดิ์ ได้ปฏิเสธรายงานข่าวนี้ไปแล้ว
อย่างไรก็ดี สำหรับ “แบ็กกราวด์” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถือว่ามีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ และแยกตัวไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ก็เป็นลักษณะของพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่ง แต่อยู่ในสายของ พล.อ.ประวิตร เท่านั้น
ขณะเดียวกัน เมื่อกล่าวถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ต้องมองไปที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เวลานี้ถือว่า เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” กันอย่างชัดเจน หลังจากมีความเคลื่อนไหว “โค่น” นายกรัฐมนตรีในศึก“ซักฟอก” เมื่อเกือบสองปีก่อน และนำไปสู่การปลดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การแยกตัวออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ
รวมไปถึงกรณีญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็นำ ส.ส.จากพรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 11 คน ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ชัดเจนว่า ทั้งคู่ยืนกันคนละขั้วอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัส หลังจากดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย โดยยึดมาจากพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนสนิทของ “บิ๊กป้อม” อีกคนหนึ่ง ถือว่าที่ผ่านมานั้น “ร.อ.ธรรมนัส ห้าวเป้ง” มาก
อย่างไรก็ดี ท่าทีห้าวๆ แบบนั้น ดูเหมือนจะได้เห็นเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากการโหวตลงมติซักฟอกผ่านไปแล้ว ก็เริ่มได้เห็น “บางอย่าง” เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ที่ผู้สมัครของพรรคเศรษฐกิจไทยพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อมให้กับผู้สมัครโนเนม จากพรรคเสรีรวมไทย ที่จังหวัดลำปาง แบบหมดรูป นับตั้งแต่นั้นก็เริ่มเสียรังวัดมาเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งเมื่อครั้งลงมติไม่ไว้วางใจล่าสุด ก็มี ส.ส.พรรคของตัวเอง “โหวตสวน” มติพรรค นั่นคือ มี ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 4 คน ลงมติไว้วางใจ บิ๊กตู่ รวมไปถึงเป็น “งูเห่า” ที่มีข่าวว่าเตรียมย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย
อีกทั้งด้วยปัจจัยจากกติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปเป็นบัตรสองใบ และ “สูตรหารร้อย” ทำให้พรรคเล็กต้องหนีตาย ซึ่งพรรคเศรษฐกิจไทย ก็หนีไม่พ้นเรื่องดังกล่าว และที่ผ่านมา ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า “บารมีไม่ถึง” ไม่สามารถดึงดูดระดับ “บิ๊กเนม” หรือระดับ “ทุนใหญ่” เข้ามาได้เลย ตรงกันข้าม มีแต่ไหลออก จะสังเกตได้ว่าในระยะหลังเขาแทบจะหายไปจากเกมเลยทีเดียว
เมื่อภาพตัดมาที่ความเคลื่อนไหวให้เห็นว่า “ทีมผู้กอง” กำลังย้อนกลับมาพรรคพลังประชารัฐอีกรอบ หรืออาจมาในลักษณะ “ฮั้ว” การเลือกตั้ง นั่นคือ แบ่งพื้นที่ผู้สมัครระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเศรษฐกิจไทย ตามที่ “บิ๊กป้อม” พูดเปิดทางเอาไว้
แต่อย่างที่รับรู้กันไว้ ก็คือ เมื่อ “ผู้กอง” กลับมา นั่นก็ต้องโฟกัสไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย แม้ว่าไม่อาจเทียบชื่อชั้นกันได้ ระหว่าง “พลเอก กับ ร้อยเอก” และสายสัมพันธ์ “สาม ป.” แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหน ไม่ว่าจะ “เคลียร์” กันลงตัว รวมไปถึงเป็นลักษณะของ “วิน วิน” นั่นคือ รวมกันดีกว่าแยกกัน เพื่อรักษาจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งคราวหน้า เพราะต้องยอมรับว่า ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย ส่วนใหญ่ล้วนเป็น ส.ส.เขต
ขณะเดียวกัน การกลับมาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คราวนี้ เมื่อเชื่อมโยงไปถึง “บิ๊กตู่” ที่เวลานี้กำลังหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว ก็อาจมองไปถึงอนาคตข้างหน้าได้เหมือนกันว่า เขา “อาจไม่ไปต่อ” แล้ว เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาจากคำพูดเก่าๆ เมื่อต้นเดือนก่อน ของ “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เคยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ “อีกสองปี” ซึ่งนั่นก็หมายความว่า จะอยู่ถึงปี 68 ซึ่งก็ตรงกับการคาดการณ์ถึงหนึ่งในผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี นอกเหนือจากการดำรงตำแหน่งได้จนถึงปี 2570
หากผลการวินิจฉัยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯได้ถึงปี 2568 หากออกมาแบบนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเขาจะ “ไม่ไปต่อ” เพราะการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้ หรืออย่างช้าก็ต้องไม่เกินต้นปีหน้า คือ ปี 2566 หากได้กลับมาก็อยู่ได้แค่ 2 ปีเท่านั้น อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากกระแส ก็ไม่เหมือนเดิม “เหนื่อยหนัก” กว่าเดิมแน่ ดังนั้น หากเป็นไปได้ที่น่าคิด ก็คือ หาก “รอด” จากคำวินิจฉัยของศาล ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะทำหน้าที่ในวาระที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะการจัดประชุม “เอเปก” ให้เต็มที่ แล้วกลับบ้านอย่างเท่ๆ จากนั้นก็ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ต้นปีหน้า !!