xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ปัญหาอาชญากรเด็ก โจทย์ใหญ่ประเทศไทย แก้ กม.ไม่ใช่ทางออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 17 มกราคม 2567 ตอน ปัญหาอาชญากรเด็ก โจทย์ใหญ่ประเทศไทย แก้ กม.ไม่ใช่ทางออก



ช่วง 1-2 ปีมานี้ การก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญหลายครั้งมาจากฝีมือเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กราดยิงกลางห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และ การยกพวกตีกันระหว่างสถาบันอาชีวศึกษา ที่นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตจนที่เป็นน่ากังวล และล่าสุดเกิดเหตุการณ์เขย่าสังคมที่จังหวัดสระแก้ว

เหตุการณ์ล่าสุด คนที่ตกเป็นเหยื่อ คือ นางสาวบัวผัน ตันสุ อายุ 47 ปี หรือป้ากบ หญิงสติไม่สมประกอบ โดยถูกกลุ่มวัยรุ่น 5 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นลูกของตำรวจสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภออรัญประเทศ ได้ร่วมกันลงมือฆ่าป้ากบและนำศพทิ้งสระน้ำ ข้างโรงเรียนในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งก่อนที่ตำรวจจะจับกุมคนร้ายทั้ง 5 คนได้

ปรากฎว่ามีความน่าสงสัยเกิดขึ้น เมื่อมีการจับนายปัญญา คงแสนคำ อายุ 54 ปี หรือลุงเปี๊ยก สามีผู้ตาย และส่งเข้าเรือนจำ

หากจะบอกว่าลุงเปี๊ยกเป็นแพะก็คงไม่ผิดนัก เนื่องจากในเวลาต่อมาได้รับการปล่อยตัว ภายหลังตรวจสอบว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด แต่สำคัญอยู่ที่เหตุใดก่อนหน้านั้นลุงเปี๊ยกถึงได้ทำแผนประกอบคำรับสารภาพและชี้จุดเกิดเหตุได้อย่างถูกต้อง ทั้งๆที่ตนเองไม่ได้มีความผิด

ทำให้มีการพุ่งเป้าไปที่การทำงานตำรวจในพื้นที่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการปฏิเสธจากตำรวจทันที

นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องการจับแพะแล้ว จะเห็นได้ว่าคดีนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการทบทวนกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนใหม่ ด้วยความหวังที่ว่าการก่ออาชญากรรมด้วยฝีมือของเด็กและเยาวชนจะลดลง เนื่องจากมีความเกรงกลัวการถูกลงโทษตามกฎหมาย

ปัจจุบันบทกำหนดโทษต่อเด็กที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญานั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 มาตรา 1.มาตรา 73 เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ 2.มาตรา 74 เด็กอายุกว่า 10 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจดำเนินการมาตรการพิเศษ เช่น เรียกผู้ปกครองมาตักเตือน คุมประพฤติเด็ก หรือ ส่งตัวเด็กไปยังสถานฝึกอบรมเด็ก เป็นต้น 3. มาตรา 75 อายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบของผู้กระทำผิดว่าสมควรพิพากษาลงโทษหรือไม่ ถ้าสมควรถูกลงโทษ ให้ลดมาตรส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง และ 4. มาตรา 76 อายุตั้งแต่ 18 ปีแต่ยังไม่เกิน 20 ปี ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสาม หรือกึ่งหนึ่งได้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดบทลงโทษของเด็กแตกต่างกับการกระทำความผิดของผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง แม้จะมีบางช่วงอายุที่ให้รับโทษตามปกติ แต่กฎหมายยังมีเงื่อนไขให้ลดจำนวนโทษที่สมควรได้รับลงมาด้วย จนทำให้ถูกมองว่าตรงนี้เองจึงเป็นแรงจูงใจให้สามารถก่ออาชญากรรมโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

เหตุผลเบื้องหลังของกฎหมายดังกล่าวมาจากการอยู่บทสมมติฐานว่าการกระทำผิดของเด็กเกิดขึ้นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การจะให้เด็กที่ยังขาดวุฒิภาวะไปรับโทษเฉกเช่นเดียวกับการก่ออาชญากรรมตามปกติ อาจไม่ช่วยให้เด็กสามารถกลับคืนสู่สังคมได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัติติหน่วยงานรัฐไม่อาจทำได้ง่ายตามที่ต้องการ เพราะนอกเหนือไปจากกระบวนการทางนิติบัญญัติที่มีขั้นตอนค่อนข้างมากแล้ว ยังติดปัญหาตรงที่ประเทศไทยยังคงต้องผูกพันตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ซึ่งกำหนดเป็นหลักการว่าในกรณีที่ต้องการดำเนินคดีกับเด็ก จะต้องมีกระบวนการที่แตกต่างจากการดำเนินคดีทั่วไป เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเด็ก เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอสมควร หากภาครัฐจะแก้ไขกฎหมายกลุ่มนี้ตามกระแสของสังคม

ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้อาจต้องกลับไปสู่จุดเดิมที่หลายฝ่ายทราบกันดี คือ การให้สถาบันเข้ามามีบทบาท หรือการสร้างจิตสำนึก เพื่อให้เด็กรู้จักผิดชอบชั่วดี ซึ่งที่ผ่านมาก็คงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลที่ออกมาเป็นอย่างไร เรียกได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่ประเทศไทย และงานหินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น