“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2567 ตอน กฤษฎีกาแทงกั๊ก ไม่ฟันธงเงินดิจิทัล 'เศรษฐา' ถอยหรือไปต่อ
ท่ามกลางเสียงตอบรับด้วยความดีใจของรัฐบาลโดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการกฤษฎีกามีหนังสือตอบกลับมาว่ารัฐบาลมีอำนาจออกพระราชบัญญัติกู้เงิน เพื่อดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล
เดิมทีก็ยังคลุมเครือ ว่าที่สุดแล้วคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าอย่างไร ไฟเขียวจริงหรือไม่ แต่ทุกอย่างก็มาเฉลยจากปากผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่่ระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบกลับความเห็นเป็นข้อกฎหมายว่า เนื้อความในมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินและการคลัง ที่จะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง หรือแก้ไขวิกฤตของประเทศ
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล10,000บาท จะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบได้เพียงเท่านี้
"เราในฐานะนักกฎหมายคงจะตอบได้เพียงเท่านั้น หากจะถามว่าออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น มาตรา 53 ก็บอกแล้วว่าให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็น พ.ร.บ. หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็แล้วแต่ เพราะออกเป็นกฎหมายเหมือนกัน มีเพียงเท่านี้ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านี้" เลขากฤษฎีกา ระบุ
แต่ถ้ามองดูจากคำสัมภาษณ์ให้ดี จะมองเห็นเหรียญอีกด้านหนึ่งว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ฟันธงเลยแม้แต่น้อยว่าทำได้หรือไม่ ในทางกลับกันเป็นการตอบตามพิธีการด้วยซ้ำ
เพราะการตรากฎหมายไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ และ พระราชกำหนด ก็เป็นอำนาจเด็ดขาดของรัฐบาลอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่กฤษฎีกาจะตอบว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อกู้เงิน
ดังนั้น คำตอบที่รัฐบาลได้มาจากกฤษฎีกา อาจจะยังไม่ใช่คำตอบที่รัฐบาลอยากรู้เท่าใดนัก เนื่องจากสิ่งที่นายกฯอยากรู้จริง ๆ คือ เศรษฐกิจของประเทศในตอนนี้วิกฤตพอที่จะเอื้อให้รัฐบาลออกกฎหมายกู้เงินหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ต่างหากที่รัฐบาลต้องการความชัดเจน เนื่องจากการออกกฎหมายกู้เงินแม้จะเป็นอำนาจของรัฐบาล แต่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ.2561 มาตรา 53 ก็วางเงื่อนไขที่เข้มงวดพอสมควร
ได้แก่ 1.ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤติประเทศ และ 2.เป็นกรณีที่ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
เพียงแค่สองเงื่อนไขของมาตรา 53 ก็ยังคิดไม่ออกว่าที่สุดแล้วรัฐบาลจะดันกฎหมายนี้ไปสุดทางของกระบวนการนิติบัญญัติผ่านทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้หรือไม่ เนื่องจาก พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.เองก็ยังไม่อยากเอาขาข้างหนึ่งเข้าไปเสียงกับคดีความที่อาจจะตามมา โอกาสที่กฎหมายจะถูกคว่ำกลางสภาก็พอมีความเป็นไปได้เช่นกัน
ซึ่งนั่นหมายความว่านายกฯเศรษฐา ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องลาออกหรือยุบสภาฯเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โทษฐานมิอาจได้รับความไว้วางใจจากผู้แทนราษฎรในออกกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่ตัวเองเป็นผู้ลงนามเสนอสภา
ครั้นจะไปใช้ช่องทางในการออกพระราชกำหนด ก็ยิ่งจะเป็นการผูกปมสร้างเงื่อนไขให้มากขึ้นไปอีก โดยถึงแม้คณะรัฐมนตรี จะมีอำนาจประกาศใช้พระราชกำหนดได้เอง แต่ที่สุดแล้วก็ต้องนำมาเสนอต่อสภาฯและวุฒิสภา รวมทั้งต้องไปก้าวขาเข้าไปสู่สมรภูมิในชั้นศาลรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งเมื่อเรื่องนี้ถึงศาลรัฐธรรมนูญเมื่อไหร รัฐบาลคงรู้ว่าโอกาสที่จะรอดไปได้คิดเป็น 50/50 เลยทีเดียว
ดังนั้น คงต้องรอดูว่านายกฯ ซึ่งเป็นขุนคลัง จะมองไฟเขียวจากกฤษฎีกาแบบใด จะเป็นไฟเขียวเข้มแบบผ่านตลอด หรือ ไฟเขียวอ่อนๆค่อนไปทางเหลืองที่ส่งถึงรัฐบาลให้แตะเบรคและหยุดรอไฟแดง เพื่อตัดสินใจตรงทางแยกอีกครั้งว่าควรไปต่อ หรือพอแค่นี้
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android