“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 9 มกราคม 2567 ตอน ส.ว.ซักฟอกรัฐบาล งานนี้มีหักเหลี่ยม สยบซ่า ‘เศรษฐา’
หนึ่งในความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตา ณ เวลานี้ คือ วุฒิสภา เพราะเริ่มปรากฎให้เห็นการรวมกลุ่มของส.ว.เพื่อขอเปิดอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ซึ่งระบุว่า
"สมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ"
โดยการพยายามจะขอเปิดอภิปรายตามมาตรา 153 นั้น เริ่มมาจากการเปิดเผยของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.คนดัง และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่ระบุว่า ส.ว.ควรทำหน้าที่ขอเปิดอภิปรายให้รัฐบาลชี้แจงในประเด็นปัญหาสำคัญ การทำงานตามนโยบาและการหาเสียง
ที่พบว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สำหรับปัญหาหรือประเด็นที่จะเสนอในญัตติตามที่หารือเบื้องต้นมีหลายประเด็น อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย จึงคิดว่าเวทีดังกล่าวเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งทำงานตามที่หาเสียงหรือแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ปรากฏ
เพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีผลงานใดออกมาเป็นรูปธรรม
การรวมเสียงให้ได้หนึ่งในสาม หรือประมาณ 84 เสียงจากส.ว.ทั้งหมด 250 คนนั้นไม่ใช่เหลือบ่ากว่าแรง เพราะต่างทราบดีว่าส.ว.ชุดนี้ต้องมีมุ้งและก๊กเป็นของตัวเอง
แต่สิ่งที่น่าสนใจของความเคลื่อนไหวครั้งนี้ อยู่ที่เหตุผลเบื้องหลังต่างหาก
ควรรู้ว่า การอาศัยมาตราา 153 เพื่อขอเปิดอภิปรายของส.ว.ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องไฟต์บังคับให้รัฐบาลต้องมาตอบคำถามของส.ว. ต่างกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่รัฐบาลไม่อาจหนีสภาได้ ซึ่งนอกจากจะหนีสภาไม่ได้แล้วยังไม่สามารถยุบสภาฯได้อีกด้วย
ดังนั้น การเปิดซักฟอกของส.ว.จึงเป็นเหมือนกับยื่นญัตติธรรมดาทั่วไป รัฐบาลจะมาหรือไม่มาก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่จะแจ้งมายังวุฒิสภา
การขอเปิดซักฟอกของวุฒิสภาในครั้งนี้ เมื่อมองในทางการเมืองแล้วถือว่ามีความหมายพอสมควร เพราะแม้จะมีส.ว.โหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ถึง 152 คน แต่ถ้ามองในรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่าครั้งนั้นมีส.ว.งดออกเสียง 68 คน และไม่เห็นชอบอีก 13 คน ซึ่งกลุ่มส.ว.ที่ไม่เห็นชอบและงดออกเสียงในการเลือกนายฯ ก็ล้วนเป็นส.ว.ในกลุ่มเครือข่ายที่สนับสนุนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มาแต่เดิม
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ส.ว.จำนวนไม่น้อยเริ่มไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาล คือ การให้สิทธินายทักษิณ ชินวัตร ได้รักษาตัวนอกโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์เกิน 120 วัน โดยที่รัฐบาลไม่สามารถให้เหตุผลได้อย่างชัดแจ้งจนปราศจากข้อสงสัย
เพียงแต่ท่องคาถาว่า "นายทักษิณป่วยจริง" หรือ "เป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์"
ซึ่งส.ว.ชุดปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแแห่งชาติ หรือคสช. และมีอุดมการณ์ต่อต้านการครองอำนาจของนายทักษิณ ชินวัตร มาตลอด จึงรับไม่ได้กับการที่นายทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษในคดีทุจริต ได้รับสิทธิพิเศษเหนือกฎหมายเช่นนี้
โดยที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาหลายคณะ พยายามจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทั้งในกรณีของนายทักษิณ รวมไปถึงการขับเคลื่อนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลมาตลอด เมื่อมีโอกาสเช่นนี้จึงเป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะกับการจะเปิดซักฟอกรัฐบาลตามมาตรา 153 เพื่อไม่ให้รัฐบาลอหังการ์ในอำนาจไปมากกว่านี้
ดังนั้น ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมองความเคลื่อนไหวของส.ว.ในครั้งนี้อย่างไร โดยเฉพาะหากในอนาคตส.ว.สามารถรวมเสียงกันได้ 84 คนขึ้นไปเพื่อขอเปิดอภิปราย เพราะถ้ารับคำท้าของส.ว.เพื่อมาชี้แจงต่อวุฒิสภา ด้านหนึ่งย่อมเกิดรอยแผลกับรัฐบาล ครั้นจะไม่รับคำท้าของส.ว. ก็คงถูกตราหน้าว่าหนีสภาอีก
บางทีทางออกของเรื่องนี้ อาจอยู่การใช้กำลังภายในเพื่อยับยั้งไม่ให้ ส.ว.เปิดอภิปรายได้ตั้งแต่ต้น
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android