xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : บัตรทองแปลงเพศ สปสช.คิดก้าวหน้า แต่ต้องมองรอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566 ตอน บัตรทองแปลงเพศ สปสช.คิดก้าวหน้า แต่ต้องมองรอบด้าน



ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากหลายประเทศว่ามีระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนที่ดีที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ สิทธิการรักษาตามประเภทต่างๆ แม้ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยและรัฐบาลหลายชุด แต่นโยบายพื้นฐานดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

มาถึงตอนนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย กำลังยกระดับไปอีกขั้น เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กำลังพิจาณาถึงความเป็นไปได้ในการให้สิทธิบัตรทองเพื่อทำการผ่าตัดแปลงเพศสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)
โดยแนวความคิดจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ จากเดิมเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศนั้นในทางการแพทย์มองว่าเป็นการผ่าตัดเสริมความงาม ซึ่งสิทธิบัตรทองไม่ได้ครอบคลุมไปถึง ทำให้การผ่าตัดแปลงเพศถูกจัดเป็นลักษณะเดียวกับการผ่าตัดเสริมหน้าอก ผ่าตัดเสริมใบหน้า

แต่อย่างไรก็ตาม หลักการเดิมที่ว่านั้นได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยได้มีการเปลี่ยนมุมมองใหม่เกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศว่าเป็นเรื่องของสุขภาพและสุขภาวะเกี่ยวกับการข้ามเพศ ทำให้การผ่าตัดแปลงเพศจึงเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งในทางสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ
และสมควรได้รับสิทธิตามกฎหมาย เพราะในทางกลับกันหากปล่อยให้เพศสภาพไม่ตรงกับจิตใจและร่างกาย อาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ซึ่งกำลังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังท้าทายระบบสาธรณสุขของประเทศไทย

สำหรับเงื่อนไขของการใช้สิทธิบัตรทองเพื่อเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศนั้น เบื้องต้นสปสช.กำหนดเงื่อนไขที่สำคัญ คือ ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ผ่านการตรวจกับแพทย์หรือจิตแพทย์ก่อนว่าบุคคลที่ขอรับสิทธิดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องข้ามเพศ
อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิผ่าตัดแปลงเพศนั้นไม่ได้ครอบคลุมแค่กระบวนการผ่าตัดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกระบวนการอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การใช้ฮอร์โมน การตรวจคัดกรองโรคหัวใจสำหรับคนที่ใช้ฮอร์โมนมาเป็นเวลานานด้วย

ซึ่งขณะนี้มีประเด็นหนึ่งที่เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตที่สปสช.ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการกำหนดนิยามความหมายของคำว่า "การผ่าตัดแปลงเพศ" ว่าควรมีขอบเขตอย่างไร
เพราะด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้มีความหลากหลายและอาจมีความต้องการในการเข้าถึงสิทธินี้ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนต้องการผ่าตัดแปลงเพศโดยสมบูรณ์ หรือ บางคนต้องการเปลี่ยนอวัยวะบางส่วนเท่านั้น เช่น ต้องการเฉพาะการผ่าตัดเสริมหน้าอก จึงเป็นปัญหาว่าสิทธิบัตรทองที่สปสช.จะให้บริการนั้นจะครอบคลุมเพียงใด

ไม่เว้นแต่ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่อาจไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการในลักษณะนี้ เพราะยังมองว่าการผ่าตัดแปลงเพศนั้นควรให้อยู่ในกลุ่มการเสริมความงามเหมือนเดิม เพื่อให้เงินถูกนำไปใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยแท้ให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ หรือ ถ้าจะให้สิทธิบัตรทองสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศ ก็ควรให้สิทธิบางส่วนเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและให้ผู้ใช้สิทธิรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือแทน

เพราะฉะนั้นแม้ว่าแนวความคิดนี้ของสปสช.จะได้รับการสนับสนุนและยกย่องที่แสดงออกถึงความก้าวหน้าในด้านการให้บริการด้านสุขภาพ แต่ต้องไม่มองข้ามการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านจากทุกฝ่าย
เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินที่นำมาใช้จ่ายในเรื่องนี้ล้วนมาจากประชาชนเช่นกัน

--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น