xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ย้ำเบิกสิทธิ "ผ่าตัดแปลงเพศ" ต้องให้หมอวินิจฉัย เร่งหารือ ผชช.ออกแพคเกจรองรับ LGBTQ+

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช. สิทธิ “ผ่าตัดแปลงเพศ" คนข้ามเพศ ต้องให้แพทย์วินิจฉัย ถึงเบิกจ่ายตามสิทธิได้ ไม่เข้าเกณฑ์เพื่อความงาม ขอหารือผู้เชี่ยวชาญออกแพคเกจบริการรองรับกลุ่ม LGBTQ+ ให้เข้าถึงการดูแลครอบคลุม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ในการผ่าตัดแปลงเพศสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ว่า ในบรรดาข้อยกเว้นที่บัตรทองไม่ครอบคลุมการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ มีข้อหนึ่งคือกรณีการผ่าตัดเสริมความงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ประโยคนี้เองทำให้มีความสับสน เพราะในอดีตการแปลงเพศถูกตีความเป็นการเสริมความงามที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

อย่างไรก็ดี กรณีของการผ่าตัดแปลงเพศในบางคนบางกลุ่ม ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่า มีข้อบ่งชี้ที่เป็นภาวะความจำเป็นต้องทำก็ถือว่าเป็นการรักษา จัดอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทองที่ครอบคลุมการดูแล ตัวอย่างเช่น ทุกปีจะมีคนผ่าตัดแปลงเพศประมาณ 100 คน ซึ่งหากเป็นผู้มีที่มีลักษณะอวัยวะเพศกำกวม ก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่บัตรทองครอบลุมและใช้สิทธิรับบริการได้

ขณะเดียวกันกรณีที่กลุ่มคนข้ามเพศที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศนั้น ต้องให้แพทย์ทำการวินิจฉัยก่อน หากเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความจำเป็นและสมควรรับการผ่าตัดแปลงเพศ ก็จะยกเว้นไม่เข้าข่ายเป็นกรณีเสริมความงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ฯ โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองรับบริการได้เช่นกัน ซึ่งปี 2563 ที่ผ่านมา ก็มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ทำการผ่าตัดแปลงเพศและเบิกค่าใช้จ่ายในระบบบัตรทอง สปสช. ก็ดำเนินการจ่ายชดเชยค่าบริการให้ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะถือเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้

“ในผู้ที่มีลักษณะทางร่างการและจิตใจไม่ได้ด้วยกัน และต้องการผ่าตัดแปลงเพศ ประเด็นนี้ต้องทำการพิสูจน์ก่อน ไม่แต่เฉพาะตัวผู้ป่วยเท่า แต่ต้องมีแพทย์ร่วมวินิจฉัยด้วย ดังนั้นไม่ใช่ทุกคนเดินเข้ามาแล้วบอกว่าจะใช้สิทธิผ่าตัดแปลงเพศ แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก่อน และแพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่าจำเป็น ระบบของ สปสช. จึงจะรองรับการเบิกจ่ายตรงนี้" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในการจัดสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลประชาชน แม้ว่า สปสช. จะไม่ได้มีการจัดแบ่งสิทธิประโยชน์บริการเฉพาะกลุ่ม แต่เพื่อให้เกิดการดูแลที่ครอบคลุม สปสช. คงต้องดูว่ามีบริการใดที่คนกลุ่มนี้ต้องได้รับบ้างและรวมจัดเป็นแพคเก็จบริการให้ ซึ่งในกรณีของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากเรื่องผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ยังมีอีกหลายบริการที่ต้องทำให้เกิดการเข้าถึงเช่นกัน อาทิ การใช้ฮอร์โมน การตรวจคัดกรองโรคหัวใจสำหรับคนที่ใช้ฮอร์โมนมาเป็นเวลานาน เป็นต้น ย้ำว่าประเด็นนี้ไม่เพียงแค่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในกลุ่มอื่นๆ ด้วย ซึ่ง สปสช. พยายามจัดระบบการดูแลที่ครอบคลุมให้กับประชากรทุกกลุ่ม

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นอกจากการผ่าแปลงเพศแล้ว การตัดอื่นๆ เช่น การผ่าตัดเสริมหน้าอก ผ่าตัดเสริมใบหน้า ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มบริการยกเว้นเพราะเป็นเรื่องของการเสริมความงาม แต่หากเป็นการทำเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และช่วยให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้ตามปกติ ก็ใช้สิทธิบัตรทองในการรับบริการได้เช่นกัน เพราะถือเป็นการรักษา อย่างไรก็ตามประเด็นต่างๆ ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในสิทธิการเข้าถึง และให้เป็นตามขอบเขตทางการแพทย์ที่เป็นการรักษาว่าสามารถทำได้แค่ไหน รวมถึงการกำหนดอัตราการจ่ายชดเชยที่เหมาะสม สปสช. ต้องขอเวลาหารือผู้เชียวชาญภาคส่วนต่างๆ ก่อน รวมถึงกรณีการผ่าตัดแปลงเพศ

นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ดูแลค่าใช้จ่ายแล้ว ปัญหาของการผ่าตัดแปลงเพศที่มากกว่า คือระบบบริการ เพราะไม่ใช่แพทย์ทุกคนจะผ่าตัดแปลงเพศให้ได้ หรือให้ฮอร์โมนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงเป็นอีกประเด็นหึ่งที่ต้องมีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน

"วันนี้ไม่ใช่เราจะไปกำหนดอะไรได้ สปสช. เป็นเพียงผู้กำหนดเรื่องการจ่ายชดเชยค่าบริการเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือระบบบริการ ซึ่งต้องถามผู้เชี่ยวชาญ ถามคุณหมอ ถามหน่วยบริการ ว่าจะจัดระบบรองรับตรงนี้ได้หรือไม่ อย่างไร ตอนนี้ทีมงานเรากำลังประสานผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อพูดคุยว่าถ้าจะมีบริการแบบนี้ หน่วยบริการมีความพร้อมหรือไม่และจะมีบริการอะไรบ้าง จะมีมาตรฐานอย่างไร" เลขาธิการ สปสช. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น