xs
xsm
sm
md
lg

จัดกำลังนครบาล-คอมมานโด 10,000 นาย คุมเข้มวันลอยกระทง เผยสถานที่จัดงาน 82 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online-นครบาลเผยรายชื่อสถานที่จัดงานวันลอยกระทง 2566 ทั้งหมด 82 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ พร้อมมาตรการป้องกันอาชญากรรมและอุบัติภัยทางน้ำ สืบสวนหาข่าวโรงงานลักลอบผลิตพลุ ประทัด รวมถึงกวดขันจับกุมคนจุด จัดสายสืบติดตามบุคคลเป้าหมาย พ้นโทษ หรือได้รับการประกันตัวชั่วคราว ให้สืบนครบาลหาเบาะแสป้องกันการก่อความไม่สงบ และการลำเลียงยาเสพติด วางกำลังตำรวจจราจรอำนวยความสะดวดสถานที่จัดงาน เส้นทางที่มีปัญหาการจราจร ขอกำลังสนับสนุนจากหน่วยคอมมานโด 30 นาย ร่วมตรวจลาดตระเวนกับ สน.พื้นที่

วันนี้ (26 พ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น.(รับผิดชอบงานสืบสวน) ในฐานะโฆษก บช.น.และ พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รอง ผบช.น.(รับผิดชอบงานป้องกันปราบปราม) ในฐานะรองโฆษก บช.น.กล่าวถึงมาตรการป้องกันปราบปราม มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย มาตรการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในเทศกาลวันลอยกระทง 2566 รวมถึงรายชื่อสถานที่จัดงานรวม 82 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์
มาตรการป้องกันอาชญากรรมและอุบัติภัยทางน้ำ 1. กำชับให้ จนท.ตร.ออกตรวจตราในพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงสถานที่ที่จัดงานลอยกระทง 2. ระดม จนท.ตร.ออกตรวจตราเพื่อลดโอกาสในการกระทำความผิด และจัดสายสืบติดตามบุคคลเป้าหมาย หรือบุคคลพ้นโทษ หรือผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีเกี่ยวกับเพศและทรัพย์ในพื้นที่รับผิดชอบ 3. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม 4. ประสานกับฝ่ายปกครอง ทหาร หน่วงงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการป้องกันอาชญากรรมหรือภยันตรายต่างๆ 5. ให้ สน.ที่มีพื้นที่รับผิดชอบทางน้ำ จัดเรือออกตรวจตราตามลำน้ำ เพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางน้ำ และให้ประสานกรมเจ้าท่าให้ตรวจดูความเรียบร้อยของโป๊ะด้วย 6. ประสานสถานบริการ สถานบันเทิงต่างๆ มิให้ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ

มาตรการป้องกันอันตรายจากพลุ ประทัด 1. สืบสวนหาข่าวข้อมูลโรงงานที่ผลิตที่เชื่อได้ว่ามีการลักลอบการผลิต หากพบการกระทำความผิด ให้ดำเนินการจับกุม 2. ประสานกับฝ่ายปกครองในการกวดขันสถานที่เก็บวัตถุ สารเคมี หรือดินปืน ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย รวมทั้งผู้ที่ผลิต นำเข้า จำหน่าย ต้องให้เป็นไปตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย โดยสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ www.thaicrimes.org 3. ร่วมกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ที่มีอำนาจออกคำสั่งระงับและป้องกันเหตุเดือนร้อนรำคาญ และกำหนดพิจารณาพื้นที่ที่ไม่สมควรเล่นพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟ เนื่องจากจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

มาตรการปราบปราม 1. ให้ระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนเทศกาลวันลอยกระทงระหว่างวันที่ 20-26 พ.ย. 66 โดยให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมปล่อยแถว และสนับสนุนการปฏิบัติด้วย 2. ให้กวดขันจับกุมผู้ที่เล่นพลุ และประทัด ในลักษณะก่อให้เกิดความเดือนร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น หรือที่น่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของ ปชช.ด้วย ในกรณีที่เป็นเด็กให้ดำเนินการกับผู้ปกครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 เพื่อให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย ในส่วนของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ขายพลุ และประทัด ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากตรวจพบว่ามีการผลิต จำหน่ายโดยผิดกฎหมายให้ดำเนินคดีทันที

มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย 1. กำชับให้เข้มงวดกวดขันป้องกันการฉวยโอกาสของผู้ไม่หวังดี หรือผู้เสียผลประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ โดยให้เพิ่มความเข้มในการตรวจตราบริเวณที่มีชาวต่างชาตินิยมเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่สำคัญ 2. ให้ บก.สส.ดำเนินการสืบสวนหาข่าวเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสก่อความไม่สงบ การลำเลียงยาเสพติดเข้าพื้นที่ หรือเหตุอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง 3. ให้จัด จนท.อีโอดีเตรียมพร้อมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติ

มาตรการอำนวยการความสะดวกด้านการจราจร 1. จัด จนท.ตร.ประจำจุดในบริเวณสถานที่จัดงานลอยกระทง และเส้นทางที่คาดว่าจะมีปัญหาการจราจร 2. บูรณาการกับหน่วงงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมเส้นทางเพื่อรองรับการจราจรที่หนาแน่น และประชาสัมพันธ์ให้ ปชช.และนักท่องเที่ยวทราบด้วย 3. ขอความร่วมมือกับ ปชช.และนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

มาตรการประชาสัมพันธ์ 1. ให้ทีมโฆษกประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อแจ้งเตือน ปชช.และนักท่องเที่ยวขอความร่วมในการป้องกันอาชญากรรม หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง โดยห้ามเล่นดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด และโคลมลอย ในลักษณะที่จะสร้างความหวาดกลัวและก่อให้เกิดความเดือนร้อนรำคาญ 2. ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 1. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ตาม ม. 43 (1) (5) "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ และในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้า หรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย หรือไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ตาม ม.4 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับลงวันที่ 23 ก.ค.55 เรื่อง กำหนดสถานที่ หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ.2555 ซึ่งกำหนด "ห้ามผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่ หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถ หรือบนรถ" หากฝ่าฝืนมีโทษตาม ม.42 ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ตาม ม.47 "จำหน่วยดอกไม้เพลิง โดยไม่ได้รับอนุญาต" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4. ประมวลกฎหมายอาญา ตาม ม.220 "ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท และตาม ม.370 "ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน" ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา
สำหรับพื้นที่จัดงานวันลอยกระทงในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 82 แห่ง ดังนี้

พื้นที่ บก.น.1 จำนวน 3 แห่ง 1. โรงเรียนพิบูลย์ (250 คน) 2. วัดแก้วฟ้า (1,000 คน) 3. วัดสร้อยทอง (500 คน)

พื่นที่ บก.น.2 จำนวน 21 แห่ง 1. มรภ.จันทรเกษม (400 - 500 คน) 2. วัดนวลจันทร์ (400 คน) 3. วัดลาดปลาเค้า (300 คน) 4. วัดบุญศรีมุณีกรณ์ (200 คน) 5. สวนรมณีย์ ถ.เวฬุวราราม (400 -500 คน) 6. วัดเสมียนนารี (300คน) 7. ตลาดบองมาร์เช่ มาร์เก็ตพาร์ค (300 คน) 8. ซอยซีเมนต์ไทย (200 คน) 9. วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) (200 คน) 10. สวนหย่อมสะพานพระราม 7 (300 คน) 11. กรมประชาสัมพันธ์ (จัด 27-29 พ.ย.66) (500 คน) 12. วัดธรรมาภิตาราม (วัดสะพานสูง) (200-300 คน) 13. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (100-250 คน) 14. ศูนย์ราชการ อาคารบี (100-250 คน) 15. วัดหลักสี่ (100-150 คน) 16. วัดเทวสุนทร (40-120 คน) 17. ร้านค้าสวัสดิการทหารอากาศ (200-300 คน) 18. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (700 คน) 19. วัดคู้บอน (200-300 คน) 20. วัดพระยาสุเรนทร์ (200-300 คน) 21.วัดหนองใหญ่ (200-300 คน)

พื้นที่ บก.น.3 จำนวน 9 แห่ง 1. วัดลานบุญ (700 คน) 2. วัดบำเพ็ญเหนือ/วัดบำเพ็ญใต้ (800-1,000 คน) 3. ท่าน้ำวัดปากบึง (200 คน) 4. วัดสามง่าม (50 คน) 5. ท่าน้ำคลองสิบสามหน้าวัดแสนเกษม (100-150 คน) 6. วัดสุทธิสะอาด (200 คน) 7. วัดสุทธาโภชน์ (300 คน) 8. วัดราชโกษา (300 คน) 9. วัดลำพะอง (100-150 คน)

พื้นที่ บก.น.4 จำนวน 14 แห่ง 1. วัดพระไกรสีห์น้อย (400 คน) 2. วัดเทพลีลา (500 คน) 3. วัดศรีบุญเรือง (400 คน) 4. วัดบึงทองหลาง (400 คน) 5 วัดพระราม 9 (กาญจนาภิเษก (300 คน) 6. วัดสามัคคีธรรม (400 คน) 7. วัดลาดพร้าว (150 คน) 8. วัดใหม่เสนา (150 คน) 9. สวนสาธารณะหมู่บ้านเสนานิเวศน์ 1 (200 คน) 10. สวนสาธารณะมหาดไทย (500 คน) 11. สวนน้ำเสรีไทย (400 คน) 12. วัดบางชัน (300 คน) 13. วัดกระทุ่มเสือปลา (400 คน) 14. มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 (400 คน)

พื้นที่ บก.น.5 จำนวน 2 แห่ง 1. เอเชียทีค (500-1,000 คน) 2. อุทยานเบญจสิริ (500-1,000 คน)

พื้นที่ บก.น.6 จำนวน 4 แห่ง 1. บริเวณถนนสะพานพุทธ (2,000 คน) 2. บริเวณคลองโอ่งอ่าง (2,000 คน) 3. บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม (2,000 คน) 4. วัดยานนาวา (600 คน)

พื้นที่ บก.น.7 จำนวน 4 แห่ง 1.สวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี)
(3,000 คน) 2.วัดอมรินทร์ธาราม (200 คน) 3. วัดอรุณราชวราราม (1,500 คน) 4. วัดศาลาแดง (300 คน)

พื้นที่ บก.น.8 จำนวน 16 แห่ง 1. ท่าน้ำวัดอินทราราม (300 คน) 2. น้ำวัดเวฬุราชิน (200 คน) 3. น้ำเชิงสะพานนวจำเนียร (50 คน) 4. น้ำวัดประดิษฐาราม (200 คน) 5. น้ำแยกตลาดพลู (100 คน) 6. สะพานพระพุทธยอดฟ้า (300 คน) 7. โรงแรมอนันตรา (100 คน) 8. สวนเฉลิมพระเกียรติ ใต้สะพานตากสิน (300 คน) 9. วัดราชวรินทร์ (100 คน) 10. ศาลเจ้าพ่อพระเพลิง (100 คน) 11. วัดเศวตฉัตร (100 คน) 12. วัดบุคคโล (500 คน) 13. วัดพุทธบูชา (800 คน) 14. วัดราษฏร์บูรณะ (400 คน) 15. วัดทุ่งครุ (100 คน) 16. ศูนย์การค้าไอคอนสยาม (5,000 คน)

พื้นที่ บก.น.9 จำนวน 9 แห่ง 1. วัดท่าข้าม (300 คน) 2. ริมคลองเฉลิมชัยพัฒนา ใกล้วัดหัวกระบือ (300 คน) 3. วัดประทีปพลีผล (300 คน) 4. วัดบางบอน (200 คน) 5. วัดสะแกงาม (150 คน) 6. วัดม่วง (200 คน) 7. สวนสาธารณะบางแคภิรมย์ (200 คน) 8.วัดหนองแขม (200 คน) 9. วัดหลักสาม (150 คน)

ทั้งนี้ มีรายงานว่า บช.น.ได้ขอรับการสนับสนุนชุดปฏิบัติการจาก กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (บก.ปพ.) หรือคอมมานโด จำนวน 6 ชุด ชุดละ 5 นาย แบ่งเป็น ทางบก 4 ชุด ทางน้ำ 2 ชุด ปฏิบัติหน้าที่ออกตรวจลาดตระเวนร่วมกับ สน.พื้นที่ บริเวณสถานที่จัดงานฯที่มีประชาชนร่วมงานจำนวนมาก เพื่อสร้างความอุ่นใจและเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยกำลังพล บก.ปพ.มารายงานตัวและขึ้นยุทธการกับ ผกก.สน.วัดพระยาไกร 1 ชุด ผกก.สน.ปทุมวัน 1 ชุด ผกก.สน.บางยี่ขัน 2 ชุด ผกก.สน.ปากคลองสาน 2 ชุด รวมกับตำรวจ บช.น.และหน่วยร่วมแล้วใช้กำลังทั้งหมด 10,000 นาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น