xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเหยื่อน้ำเมา ค้านเปิดผับตี 4 จี้ "ชลน่าน" สธ.เคียงข้างปกป้องผลกระทบสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่ายเหยื่อน้ำเมา แต่งกายเลือดท่วมตัวค้านเปิดผับถึงตี 4 ยื่นหนังสือถึง “ชลน่าน” หวัง สธ.ปกป้องผลกระทบสุขภาพ หลังรัฐบาลไม่สนตัวเลขเจ็บตาย แลกเศษเงินการท่องเที่ยวกลางคืน จี้ สธ.จัดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหยื่อเมาแล้วขับ และภาคีสมาชิก กว่า 50 คน แต่งตัวเป็นเหยื่ออุบัติเหตุเลือดท่วมตัว ชูป้าย “หยุดผับบาร์ตี 4 หยุดเพิ่มภาระทางการแพทย์” พร้อมยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจากเวลา 02.00 น. ออกไปเป็นเวลา 04.00 น. ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมี รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. และ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้รับเรื่อง


นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดถูกกฎหมายที่สร้างความเสียหาย สร้างผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ดื่ม ครอบครัว สังคม ชุมชน และประเทศ ถือว่าสร้างผลกระทบมากที่สุดเมื่อเทียบกับสารเสพติดชนิดอื่น เช่น โคเคน ยาบ้า บุหรี่ เฮโรอีน และยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงของความเจ็บป่วย กว่า 230 ประเภท เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก 3.3 ล้านคนต่อปี เช่น เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 12.5% โรคระบบทางเดินอาหารและตับ 16.2% โรคระบบหัวใจ หลอดเลือด และเบาหวาน 33.4% โรคทางจิตเวชและระบบประสาท 4.0%

“เฉพาะคนไทยตายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละประมาณ 26,000 คน เฉลี่ยทุก 20 นาทีจะมีคนไทยตาย 1 คน ซึ่งการศึกษาพฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจปี 2550 พบว่าเด็กและเยาวชน 40.8% ก่อคดีระหว่างดื่มหรือภายใน 5 ชั่วโมงหลังดื่มสุรา ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 55.9% และคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ 46.2 % และในปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 14,854 คน สาเหตุจากดื่มแล้วขับ 25-30 % รวมถึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 38.3%” นายธีรภัทร์ กล่าว


นายธีรภัทร์กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีมาตรการสอดคล้องกับการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขององค์การอนามัยโลก ทั้งจำกัดการเข้าถึง ทั้งสถานที่ กลุ่มอายุ ช่วงเวลาซื้อ ขาย การควบคุมการโฆษณา ส่งเสริมการขาย การคัดกรอง บำบัด รักษาผู้ติดสุรา และยังมีพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่จะกำหนดมาตรฐานลงโทษกรณีเมาแล้วขับ มีพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 แต่ล่าสุด รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กลับเดินหน้าขยายเวลาปิดสถานบันเทิงในเวลา 04.00 น. นำร่อง 4 จังหวัด คือ กทม. ชลบุรี ภูเก็ต และ เชียงใหม่ เริ่มวันที่ 15 ธ.ค. 2566 เพื่อหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แต่ประเด็นที่สังคมตั้งคำถามคือการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจะได้คุ้มเสียหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้เพียงใด

"หากจะอ้างเหตุผลเรื่องการท่องเที่ยวก็พบว่างานวิจัยของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเองเมื่อปี พ.ศ.2563 ก็พบว่านักท่องเที่ยวสนใจมาเมืองไทยเพื่อมาท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ วัดวาอาราม ศิลปวัฒนธรรมเป็นอันดับต้นๆ ส่วนเรื่องการกินดื่ม หรือสถานบันเทิงยามค่ำคืนเป็นความสนใจลำดับสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวจะสนใจ อีกทั้งข้อมูลในปัจจุบันยังพบว่ามีชาวต่างชาติมาเสียชีวิตในประเทศไทยด้วยเหตุแห่งความไม่ปลอดภัยปีละ4-500 คนต่อปี บาดเจ็บอีกร่วมสองหมื่นคน ดังนั้นความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องขบคิดมากกว่าเรื่องการขยายเวลาสถานบันเทิงที่จะเท่ากับการขยายเวลาความเสี่ยง" นายธีรภัทร์กล่าว


ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เรื่องขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 นั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความต้องการของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่นำโดยกลุ่มทุนน้ำเมาข้ามชาติขาประจำกับผู้ประกอบการร้านเหล้าผับบาร์บางราย ซึ่งจริง ๆ แล้วกลุ่มนี้ต้องการยกเลิกเวลาห้ามขายช่วง 14.00-17.00 น. ด้วย จะเห็นได้ว่าในช่วงที่โควิด 19 ระบาด คนกลุ่มนี้ก็เสนอเรื่องนี้มาตลอด มีการเปลี่ยนหน้าสลับกลุ่มกันมายื่นข้อเสนอกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และทำงานล็อบบี้กับพรรคการเมืองแทบทุกพรรค ท้ายที่สุดแล้วในเรื่องนี้มีจุดอ่อนอีกมากที่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วได้ไม่คุ้มเสียเลย และการอ้างว่ากระตุ้นเศรษฐกิจหรือดึงดูดนักท่องเที่ยวมันก็แค่ฝันลมๆแล้ง อยากเสนอให้ภาครัฐเร่งหามาตรการสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวจะดีกว่าเดินหน้าขยายเวลาเมายันสว่างแบบนี้ ไม่เชื่อลองไปสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวดูเลยว่าอยากได้ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว หรือได้เมายันสว่าง

ส่วนที่อธิบายว่าทุกวันนี้ก็แอบเปิดกันอยู่แล้วก็เอามาทำให้มันถูกซะเลยจะได้ลดเรื่องส่วย เงินใต้โต๊ะ อันนี้มันคนละเรื่องเลย เพราะร้านเหล้าผับบาร์ที่ต้องจ่ายส่วยมันไม่ได้มีประเด็นเฉพาะเวลาเปิดปิดอย่างเดียว การให้เด็กเข้าไปใช้บริการ มียาเสพติด การพนัน ค้ามนุษย์ ก็เป็นเรื่องที่เรียกเก็บส่วยได้อยู่ดี ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้จึงต้องแก้ที่การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐให้เด็ดขาด ดังนั้นภาคีเครือข่ายภาคประชาชนจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1. เครือข่ายฯ ขอคัดค้านแนวคิดการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ร้านเหล้า ผับ บาร์ เพราะเชื่อว่าได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน 2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่มีการสั่งสมมาในสังคมไทยเป็นเวลานาน สร้างผลประทบต่อประชาชนทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ เพิ่มภาวการณ์เจ็บตายของประชาชน กระทบต่อระบบสาธารณสุข 3. ขอให้กระทรวงฯจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลนำไปสู่การตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาลที่รอบคอบ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าเอื้อประโยชน์ให้นายทุนน้ำเมา ร้านเหล้าผับบาร์ และ 4. เครือข่ายฯ ยินดีสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ในทุกด้าน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน






กำลังโหลดความคิดเห็น