“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ตอน ล้างผู้ค้ายาบ้า เกาไม่ถูกที่คัน คดีท่วมศาล-คนล้นคุก
เป็นประเด็นที่ชวนให้สังคมขบคิดไม่น้อยภายหลังนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดจำนวนการครอบครองยาเสพติดให้โทษเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า
โดยจะแก้ไขจำนวนการครอบครองยาบ้าที่มีความผิดฐานเป็นผู้ค้าใหม่จากเดิมที่กำหนดไว้ต้องเกิน 15 เม็ดเปลี่ยนเป็นต้องมีไว้ในครอบครองเกิน 10 เม็ด เท่ากับว่าหากผู้ใดครอบครองยาบ้าน้อยกว่านั้นจะมีความผิดฐานเป็นผู้เสพเท่านั้น และจะต้องถูกส่งตัวไปบำบัดตามขั้นตอนทางการแพทย์แทนการรับโทษในเรือนจำ
ปัญหากำหนดเส้นแบ่งความเป็นผู้เสพและผู้ค้ายาบ้านั้นเป็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขพยายามหาจุดตรงกลางที่สมดุลมาหลายปี แต่ยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ โดยมีแนวความคิดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้ง
ในบางครั้งเคยมีข้อเสนอว่าถ้าครอบครองเกิน 5 เม็ดให้มีความผิดฐานเป็นผู้ค้า หรือเมื่อต้นปี 2566 ก่อนจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ กระทรวงสาธารณสุขก็เคยมีแนวคิดลดจำนวนการครอบครองยาบ้าที่จะมีความผิดฐานเป็นผู้ค้าจาก 5 เม็ด มาเป็น 2 เม็ด แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรื่องการกำหนดจำนวนการครอบครองยาบ้ายังไม่อาจหาข้อสรุปได้เสียที คือ หลักคิดในการทำงานด้านยาเสพติดที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในมุมมองของฝ่ายสาธารณสุขและตำรวจ ต่างมองไปในทิศทางคล้ายกันว่ายาบ้าควรได้รับการปราบปรามให้มากที่สุด และการกำหนดโทษความผิดฐานผู้ค้าให้แรงขึ้นและกำหนดจำนวนการครอบครองยาบ้าที่จะมีความผิดฐานผู้ค้าให้ลดลง จะทำให้การทำให้คนไม่กล้าทำผิดมากขึ้น
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไม่ได้มองในมิติเรื่องปริมาณนักโทษล้นคุกจากคดียาเสพติดมากเท่าใดนัก
โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการรับโทษนั้นส่่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดที่มาจากความผิดฐานเป็นผู้ค้ายาบ้าเป็นหลัก ทำให้กรมราชทัณฑ์ต้องเผชิญกับปัญหาจำนวนนักโทษล้นเรือนจำอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หากลดจำนวนการครอบครองยาบ้าในข้อหาผู้ค้ามากเท่าไหร ยิ่งมีผลให้จำนวนนักโทษมากขึ้นเท่านั้น เพราะสุดท้ายปลายทางจะตกมาที่กรมราชทัณฑ์อย่างปฏิเสธไม่ได้
กลายเป็นว่า หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดยังมีแนวคิดในการทำงานด้านนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ต่างฝ่ายต่างมองเฉพาะภารกิจของตัวเองเป็นหลัก ทำให้การแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
สวนทางกลับการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นและเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะผ่านการสั่งซื้อด้วยระบบออนไลน์ในราคาที่ต่ำลง
ที่สุดแล้วการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าให้เกิดความยั่งยืน ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องอาศัยการทำงานและสร้างความร่วมมือในภาคใหญ่ตั้งแต่ระดับระหว่างประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทยกวดขันล้างบางแหล่งผลิตยาเสพติด หรือ ควบคุมการนำเข้าสารเคมีบางประเภทที่ใช้ในระบบอุตสาหกรรมที่อาจเป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตยาบ้าได้
ไปจนถึงการแก้ไขกฎหมายที่อาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่มีกรอบในการสันนิษฐานผู้กระทำความผิดฐานเป็นผู้ค้ายาบ้าโดยดูจากเจตนาและพฤติการณ์เป็นสำคัญ แทนการจะพิจารณาเฉพาะจำนวนปริมาณยาบ้าที่มีไว้ในครอบครองเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้คดียาบ้าไม่ล้นกระบวนการยุติธรรมมากจนเกินไปและการพิจารณาคดีจะได้มีความรัดกุมรอบคอบมากขึ้น
เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่การแก้ไขปัญหายาเสพติดควรต้องปัญหาแบบเห็นป่าทั้งป่า ไม่ใช่มองแค่ภาพเล็กๆเหมือนที่ผ่านมา
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1