MGR Online - “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ประชุมร่วมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม มอบนโยบาย 100 วันแรก ยันคดี “ฮั้วประมูล” ต้องทำทั่วประเทศ ส่วน “ทักษิณ” นอนรักษาตัวนอกเรือนจำ ขึ้นอยู่ดุลยพินิจแพทย์
วันนี้ (14 ก.ย.) เวลา 15.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมแถลงหลังมอบนโยบายให้หน่วยงานในกระทรวงฯ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า วันนี้มาประชุมหารือร่วมผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม พร้อมมอบนโยบายตามข้อสั่งการของรัฐบาล คือ รื้อฟื้นหลักนิติธรรม รวมถึงยาเสพติด โดยมีแผนในห้วง 100 วัน จะนำความยุติธรรมให้ประชาชนและต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ตนจะลงกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ เพราะกระทรวงฯ มีเครื่องมือช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพและประชาชน ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายเร่งด่วนตามข้อสั่งการของรัฐบาล เช่น ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ลูกหนี้ SME อยากให้มีการฟื้นฟูลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ต้องแก้ปัญหาจากโครงสร้าง ไม่ใช่กู้เงินใหม่มาแก้ปัญหา และมันจะไม่จบ ซึ่งหนี้ครัวเรือนมี 80-90% ของ GDP ถือเป็นเรื่องท้าทาย รวมทั้งอยากให้ผลักดันแก้ปัญหาล้มละลาย
“อีกนโยบายต้องสร้างความเชื่อมันให้ประชาชนในกระบวนการยุติธรรม เช่น งานตำรวจบางครั้งอาจต้องดีเอสไอเข้าไปถ่วงดุล สนับสนุน ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดเป็นใหญ่ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคดี รวมทั้ง แก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในรอบ 50 ปี เพราะมีประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ทั้งเรื่อง ป้องกัน ปราบปราม ฟื้นฟู ยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ตอนนี้อยู่ในการดูแลคุมประพฤติ 2 แสนคน และอยู่นอกระบบกว่า 1.9 ล้านคน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปก่อเหตุซ้ำ”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ส่วนการปราบปรามผู้มีอิทธิพลเพราะพวกนี้ต้องการเงิน ต้องการทุจริตคอรัปชั่น จากนี้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกับกรมบัญชีกลางและใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาตรวจสอบ ส่วนข้อสงสัยว่ามีการฮั้วประมูลหรือไม่ก็จะดูว่าผู้ที่ชนะการประมูลได้ราคาใกล้เคียงกับราคากลางหรือไม่และได้งานซ้ำอีก ก็จะดำเนินการจริงจัง ทั้งนี้ ถ้าผู้มีอิทธิพลไม่มีเงิน ไม่มีข้าราชการหนุนค้ำยัน ทำผิดต้องได้รับผิดจะใช้กฎหมายจัดการ และไม่ได้ทำเฉพาะนครปฐม แต่จะดูทั้งหมด
พ.ต.อ.ทวี กล่าวเสริมว่า อีกนโยบายเรื่องของคุ้มครองสิทธิผู้ด้อยโอกาส คนไม่มีปากเสียง เช่น บุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ที่ตกหล่นเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาคนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ โดยดีเอสไอกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เข้าช่วยเหลือได้เพียงปีละหลักพันคน ต้องพิสูจน์สัญชาติเพราะมีบุคคลตกสำรวจ ไม่มีสถานะตามบัตรประชาชน
ส่วนกรณี ฮั้วประมูล “กำนันนก” ต้องทำตรงไปตรงมา อาจต้องขยายตรวจสอบทั่วประเทศ ไม่ควรจบที่กำนันนก ถ้าขยายผลการป้องกันคอรัปชั่นจะสามารถนำงบประมาณมาใช้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้ ดีเอสไอต้องทำเรื่องนี้ และไม่ใช่มีเหตุแล้วทำ ใครมีพฤติกรรมก็ต้องทำ
กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ แก้ไข 2560 ต้องทำให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ ยังอยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ โดยหลักการพักรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นตามขั้นตอน การรักษาเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาการเรือนจำ แต่หากครบ 30 วัน ต้องขออนุญาติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ หากเกิน 60 วันต้องขออนุญาติปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่หากเกิน 120 วันต้องขออนุญาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่หลักสำคัญที่สุดนั้นคือคำวินิจฉัยของแพทย์ และควบคุมไม่ให้หลบหนี หรือก่อเหตุร้าย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎระเบียบ