xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” จ่อรับคดีพิเศษ บริษัท “กำนันนก” นำร่องสอบ 2 โครงการรัฐ ส่อฮั้วประมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ผอ.กองคดีฮั้วประมูล เร่งสืบสวนบริษัท “กำนันนก” ได้งานโครงการรัฐ 20 โครงการ ที่มีมูลค่า 30 ล้านบาทขึ้นไป แต่นำร่องก่อน 2 โครงการ เอาผิดผู้เกี่ยวข้อง

วันนี้ (12 ก.ย.) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ “กองคดีฮั้วประมูล” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อม นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงผลการสืบสวนบริษัท 2 แห่ง คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด โดยมี นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” เป็นกรรมการบริษัท อาจเข้าข่ายฮั้วประมูลโครงการของรัฐ

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า สืบเนื่องจากบริษัทของ “กำนันนก” มีการทำธุรกิจรับงานจากหน่วยงานของรัฐหลายกระทรวงในพื้นที่หลายจังหวัด โดยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผลิต และจำหน่ายยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย มีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูงมาก อธิบดีฯ จึงมอบหมายให้ กองคดีฮั้วประมูล ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ พร้อมเร่งปราบปรามผู้มีอิทธิพลและผู้เกี่ยวข้อง

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวอีกว่า ผลการตรวจสอบพบว่าบริษัทเครือข่าย “กำนันนก” มีธุรกิจที่เข้าไปรับงานจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน รวม 1,544 โครงการ ในวงเงินงบประมาณ 7,579,402,078.72 บาท และวงเงินทำสัญญารวม 6,964,815,249.47 บาท จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด (เข้ารับงาน 923 โครงการ) และ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด (เข้ารับงาน 621 โครงการ)

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวต่อว่า จากกรณีดังกล่าว กองคดีฮั้วประมูล มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีที่มีโครงการ มูลค่าวงเงินสัญญาตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป พบว่า ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ได้งานจำนวน 18 โครงการ และ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ได้งานจำนวน 2 โครงการ รวมทั้งหมด 20 โครงการ และพบว่าข้อมูลที่มีเหตุอันควรสงสัยจะมีการได้เข้าทำสัญญากับภาครัฐโดยไม่โปร่งใส ลักษณะอันอาจเข้าข่ายตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อมีวัตถุประสงค์เข้าทำสัญญากับรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยกีดกันไม่ให้มีการเสนอราคาอันมิใช่เป็นการประกอบธุรกิจปกติ ส่วนข้อมูลรั่วไหล มีหลายสาเหตุอาจมาจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ว่าจ้างบริษัทคนนอกมาวางระบบ

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุว่า โดย ดีเอสไอ สืบสวนนำร่องก่อน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม - ต.ลำลูกบัว โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 300 ล้านบาท และ 2.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว - บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 350 ล้านบาท คาดสัปดาห์หน้าจะสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้

“ทั้งนี้ กำลังตรวจสอบบริษัทที่ยื่นซองว่ามีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งหรือไม่ รวมถึง ได้ออกหมายเรียก 58 บริษัทที่ยื่นซองราคา แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ใน 2 โครงการดังกล่าว มาสอบปากคำ ในห้วงวันที่ 18-20 ก.ย.นี้ ว่ารู้เห็นสมยอมกันหรือไม่ ทำไมถึงไม่ไปยื่น หรืออาจมีการข่มขู่บริษัทคู่แข่งอ้างผู้ใหญ่ทำให้ไม่มายื่นประกวดราคา ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ปรากฏแต่กำลังขยายผล”

ร.ต.อ.สุรวุฒิ เผยอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทในเครือ “กำนันนก” เคยรับโครงการหน่วยงานตำรวจที่โรงเรียนนายร้อยเป็นการทำถนน มูลค่า 8.7 ล้านบาท แต่ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย และไม่ได้อยู่อำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม หากมีหลักฐานชัดเจนจะเรียกผู้กระทำผิดมารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนความผิดจะแบ่งเป็นต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต และเอกชน มีโทษตั้งแต่ 3-10 ปี

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง สำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร. หรือ DGA) และองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) (ACT) และขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า ได้มีบุคคลที่ไม่ประสงค์จะแจ้งตัวตนได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเครือข่ายบุคคลที่เกี่ยวข้องมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว


ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการขยายผลการดำเนินคดีกับเครือข่ายได้เป็นอย่างดี และขอให้ บุคคล/บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ได้รับหรือเคยได้รับผลกระทบจากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการข่มขู่ คุกคาม หรือกีดกัน ไม่ให้เข้าร่วมการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นธรรม จาก “กำนันนก” และเครือข่าย ขอให้แจ้งข้อมูลมายังกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กคร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเร็ว ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาในเรื่องการคุ้มครองพยานตามมาตรการคุ้มครองพยาน เพื่อกวาดล้างขบวนการและร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในรูปแบบของผู้มีอิทธิพลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น