xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ลดโทษ เหลือจำคุก 4 ปี “สมบัติ ทองย้อย” อดีตหัวหน้าการ์ดเสื้อเเดง หมิ่นเบื้องสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายสมบัติ ทองย้อย อดีตหัวหน้าการ์ดเสื้อแดง (แฟ้มภาพ)
ศาลอุทธรณ์ลดโทษ เหลือจำคุก 4 ปี “สมบัติ ทองย้อย” อดีตหัวหน้าการ์ดเสื้อเเดง หมิ่นเบื้องสูง จากที่ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 6 ปี เนื่องจากคำให้การเป็นประโยชน์ ด้านทนายเพิ่มหลักทรัพย์เป็น 6 แสนบาทประกันตัว ศาลอาญาใต้ส่งศาลฎีกาพิจารณา ส่งตัวเข้าเรือนจำรอฟังคำสั่ง

วันนี้ (13 ก.ย.) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานอาญากรุงเทพใต้ ฟ้องนายสมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดง ในความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3)
คดีสืบเนื่องจาก นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อให้ดําเนินคดีกับ นายสมบัติ จากการโพสต์ข้อความสาธารณะลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “สมบัติ ทองย้อย” จำนวน 3 ข้อความ โดยกล่าวหาว่าข้อความเกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานหมิ่นสถาบันฯกับฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี

โดยวันนี้จำเลยเดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พร้อมทนายความ

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ได้รับทราบจากทีมทนายความที่ทำคดีนี้ว่าคดีนี้เดิมศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 2 กรรมรวมเป็น 6 ปี เเต่วันนี้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้เพราะเห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เนื่องจากทางทนายความยื่นอุทธรณ์ไปว่าตัวจำเลยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงต้องได้ประโยชน์ในส่วนนี้ที่ให้การเป็นประโยชน์ เเต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงที่ได้โพสต์ข้อความถึงสถาบันฯ ทางทนายความก็ได้ยื่นประกันตัวต่อระหว่างฎีกา ซึ่งขณะนี้ศาลอุทธรณ์ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณาอยู่ โดยระหว่างนี้ตัวจำเลยจะต้องถูกควบคุมจนกว่าจะมีคำสั่งของศาลฎีกาลงมาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งทนายความได้เพิ่มหลักทรัพย์ประกันตัวอีก 3 เเสนบาท รวมกับหลักทรัพย์เดิมเป็นทั้งหมด 6 แสนบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น