ศาลอนุญาตให้ประกัน“ตะวัน-แบม” กับพวก 9 คน ร่วมกันทำลายทรัพย์ราชการ บนโรงพักสำราญราษฎร์ วงเงินคนละ 25,000 บาท ไม่กำหนดเงื่อนไข
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (12 พ.ค.) พนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ ได้นำตัว นายสิทธิชัย ปราศรัย อายุ 25 ปี นายนภสิทธิ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ อายุ 19 ปี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 21 ปี น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ อายุ 24 ปี นายธีรภัทร ระดับแก้ว อายุ 14 ปี นายจิรภาส กอรัมย์ อายุ 28 ปี นายณัฐพล เหล็กแย้ม อายุ 20 ปี นายรณกร ห้างชัยเจริญ อายุ 25 ปี และ นายศุทธวีร์ สร้อยคำ อายุ 25 ปี ผู้ต้องหาที่ 1-9 ในความผิดฐาน ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์,ร่วมกันบุกรุกโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปในอาคารสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นฯ, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 360, 365 (1)(2) มาฟังคำสั่งไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขัง
หลังจากช่วงบ่ายวานนี้ (11 พ.ค.) พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ได้ยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 9 คน แต่ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง ซึ่งศาลได้เปิดห้องไต่ส่วนทั้งสองฝ่ายเสร็จแล้ว จึงให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ไปควบคุมไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง และ นัดฟังคำสั่งในวันนี้
ศาลอาญา พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอฝากขังและข้อคัดค้านของผู้ต้องหาทั้งเก้าแล้ว เห็นว่า พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาทั้งเก้า ผู้ถูกจับมาศาล และยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งเก้าในระหว่างทำการสอบสวน โดยระบุในคำร้องว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันทําให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมกันบุกรุกโดยไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปในอาคารสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นหรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิ์ที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออกโดยใช้กำลัง ประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันต่อสู้หรือ ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
โดยพนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 10 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง รอผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาทั้งเก้า และตามทางไต่สวนผู้ร้องได้ความเพิ่มเติมว่า พยานบุคคลดังกล่าว ได้แก่ เจ้าพนักงานตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผล และรายงานผลการตรวจสอบที่เกิดเหตุ กรณีจึงมีเหตุผลและความจำเป็นต้องมีการฝากขังผู้ต้องหาทั้งเก้าในระหว่างทำการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนการฟ้องคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาลในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยมาในการพิจารณาคดีของศาล
ส่วนที่ผู้ต้องหาทั้งเก้าคัดค้านว่า ถูกควบคุมตัวในสถานที่ นอกเหนือจากสถานีตำรวจที่เกิดเหตุอันเป็นพื้นที่ห่างไกลก็ดี ขณะจับกุมถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายก็ดี และตรวจยึดสิ่งของไปโดยไม่ชอบก็ดี ได้ความจากผู้ร้องเบิกความว่า เหตุผลที่ต้องแยกควบคุมผู้ต้องหาทั้งเก้าออกเป็น 3 ส่วน หรือ 3 สถานีตำรวจ เป็นไปตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล เนื่องจากเกรงว่าจะมีมวลชนมาปิดล้อม และบริเวณ สน.สำราญราษฎร์ ที่เกิดเหตุมีบ้านพักราชการและบ้านเรือนประชาชนเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมอีก กรณีจึงเป็นเรื่องความปลอดภัยและความสงบสุขโดยรวมของประชาชน
ส่วนเรื่องการทำร้ายร่างกายนั้น ปรากฏว่า ฝ่ายผู้ต้องหาทั้งเก้าก็ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายโดยร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีเป็นคดีต่างหากแล้ว ในการตรวจยึดสิ่งของ เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้มีการจัดทำบันทึกการตรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน ส่วนสถานีตำรวจที่นำผู้ต้องหาทั้งเก้าไปควบคุมสามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก และแม้ผู้ต้องหาทั้งเก้าคัดค้านว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าไม่มีพฤติการณ์หลบหนีก็ตาม แต่เมื่อกรณีมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี และพนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งเก้าด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ผู้ต้องหาทั้งเก้ามีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนอยู่แล้ว ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งเก้า โดยตามคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 นั้น มีกำหนด 12 วันตั้งแต่วันที่ 11-22 พ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ปรากฏว่า มีผู้ปกครองและญาติผู้ต้องหา พร้อมเพื่อนๆ ประมาณ 20 กว่าคน มารอให้กำลังใจ
ภายหลังทนายความยื่นประกันผู้ต้องหาทั้ง 9 คน โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดแล้ว
ล่าสุด 16.00 น. ศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 9 ในชั้นฝากขังนี้โดยตีราคาประกันคนละ 25,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการปล่อยตัวชั่วคราว
ภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน หรือ ตะวัน และน.ส.อรวรรณ หรือ แบม" กล่าวว่า เราไปที่สน.สำราญราษฎร์เพื่อสอบถามเรื่องที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มแก่น้องหยก เยาวชนอายุ 15 ปี ที่อยู่ในสถานพินิจบ้านปราณี ในคดีความผิด มาตรา 112 ซึ่งใกล้จะเปิดเทอมแล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าวทางตำรวจสน.สำราญราษฎร์ให้พวกเราขึ้นไปพูดคุยบนโรงพัก แต่เราเห็นว่าหากบริสุทธิ์ใจให้ลงมาคุยกับประชาชนด้านล่างโรงพัก จากนั้นจึงมีตำรวจควบคุมฝูงชนประมาณ 1 กองร้อยมาที่สน.สำราญราษฎร์จนกระทั่งเกิดความรุนแรงดังกล่าวขึ้นและทุกคนต่างมีร่องรอยอาการบาดเจ็บ
น.ส.ทานตะวัน หรือ ตะวันกล่าวต่อว่า สิ่งที่เรามีคือโทรโข่ง และสาดสีไปที่ชุดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งสามารถทำความสะอาดล้างออกได้ แต่สิ่งที่ตำรวจทำกับพวกเราถือว่ารุนแรงมากกว่า และในช่วงเย็นวันนี้ก็เตรียมจะเดินทางไปสอบถามโทรศัพท์ของพวกเราทั้ง 9 คน ซึ่งไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนำเอาไปไว้ที่ใด เพราะว่าพวกเราทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสาร หรือใช้ทำมาหากิน และศาลก็ไม่ได้มีคำสั่งให้ยึดโทรศัพท์ไว้ ดังนั้นเราต้องการเอาโทรศัพท์คืนมาให้เร็วที่สุด ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ อยู่ที่การตอบรับของเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สำราญราษฎร์ ส่วนการเคลื่อนไหวก็จะยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดิม