MGR Online - “สมศักดิ์” ร่วมสัมมนา “ทิศทางโทษประหารชีวิตกับบริบทของสังคมไทย” นักวิชาการ-องค์กรร่วมงานเพียบ ชี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องรอบคอบทุกด้าน
วันนี้ (27 ม.ค.) เวลา 09.00 น. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดการการสัมมนา “ทิศทางโทษประหารชีวิตกับบริบทของสังคมไทย” ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร็นซ์ โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในงานสัมมนา พร้อมด้วย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงยุติธรรม ศาล อัยการ ภาคเอกชนและภาคประชานร่วมกว่า 200 คน
นายเรืองศักดิ์ กล่าวรายงานว่า การสัมมนาครั้งนี้เพื่อเป็นการหารือถึงแนวทางโทษการประหารชีวิต โดยกรมคุ้มครองสิทธิมีหน้าที่หลักในการผลักดันสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งการรณรงค์เปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต เราต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นหลัก ที่ผ่านมา เราได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ศึกษาวิจัยโทษประหารชีวิต และการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่างๆ รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต บริบทของกระแสโลกและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้สอดคล้องกับริบาทของสังคมไทยต่อไป
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า ปัจจุบันแนวโน้มการใช้โทษประหารชีวิตของทั่วโลกลดลง 144 ประเทศ ได้ยุติโทษประหารชีวิตแล้ว สำหรับประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 55 ประเทศที่ยังมีการใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งเราถูกตั้งคำถามตลอดในเวทีนานาชาติถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิต ปัจจุบันเราได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต และจัดเวทีต่างๆและเสนอความคืบหน้าแก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นระยะ ในการรับทราบรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการลงโทษและการประหารชีวิตในประเทศไทย รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายโทษประหาร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโทษประหารนั้นเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน กระทบความรู้สึกประชาชนโดยรวม การสร้างความรู้ความเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตนหวังว่าการสัมมนาจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ข้อเสนอแนะต่างๆจะนำไปประมวลเพื่อกำหนดการเปลี่ยนแปลงโทษประหารของเราต่อไป
นายวิทิต มันตาภรณ์ อดีตผู้แทนพิเศษและผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อภิปรายในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนกับการใช้โทษประหารชีวิต ตอนหนึ่งว่า กระแสสากล 144 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ยังมีอีก 55 ประเทศที่ยังใช้โทษประหาร ซึ่งมีประเทศใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา แต่เขาก็มีการปรับให้เข้ากับกระแสของโลกเช่นเดียวกัน ที่น่าจับตามอง คือ การแสดงออกของประเทศไทยในเวทีสากลจะเป็นอย่างไร กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะกล้าพอหรือไม่ที่จะยกเลิก ซึ่งเรามีการแก้กฎหมายยกเลิกประหารชีวิตผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีตามหลักสากล การลงโทษประหารอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน บางประเทศอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ และหากเราจะแก้ไขกฎหมายก็อย่าทำเงื่อนไขที่ไม่สวยงามเข้ามา ซึ่งต้องมีการศึกษาและรับฟังความเห็นอย่างละเอียด
ส่วนทาง นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมนาสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ภาพรวมและแนวโน้มโทษประหารชีวิตในบริบทสากล กล่าวว่า ระบบยุติธรรมสมัยใหม่ต้องมีความแม่นยำเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตนได้เห็นกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีการพูดคุยหารือถึงเรื่องนี้มาตลอด สำหรับการประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2563 มีการประหารอย่างน้อย 483 คน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุด ที่แอมนาสตี้บันทึกได้อย่างน้อยในรอบทศวรรษ ลดลง 26% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 657 ครั้ง และลดลงถึง 70% จากจำนวนการประหารชีวิตสูงสุด 1,634 ครั้ง ในปี 2558 สำหรับแนวโน้มของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ความลับในจีน เกาหลีเหนือ และ เวียดนาม ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการประเมินข้อมูล อินเดีย และ ไต้หวัน เริ่มประหารชีวิตบุคคลหลังงดเว้นไป 4 ปี และ 1 ปีตามลำดับ ญี่ปุ่น ปากีสถาน และสิงคโปร์ ไม่มีรายงานการประหารชีวิตเลยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการเปิดวิดีโอการสอบถามถึงทิศทางโทษประหารชีวิตกับบริบทของสังคมไทย จากประชาชน ซึ่งมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหาร เพราะเห็นว่าควรพัฒนาทางด้านกฎหมาย การศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้คนกระทำความผิดลดน้อยลง และอีกส่วนเห็นว่าควรคงโทษประหารไว้เพื่อให้คนกลัวการทำผิดและเป็นการลงโทษที่เหมาะสมกับความผิดที่ร้ายแรง