xs
xsm
sm
md
lg

“พัชรินทร์” ดัน พ.ร.บ.ป้องกันผิดซ้ำในคดีอุกฉกรรจ์ เข้าสภาฯ ชงฉีดให้ฝ่อในมาตรการทางการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษก พปชร. อภิปราย ดัน พ.ร.บ.ป้องกันผิดซ้ำในคดีอุกฉกรรจ์ เข้าสภาฯ ไม่อยากเห็น คดีรุนแรงซ้ำสอง ทั้ง “รปภ.ข่มขืนลูกบ้าน-ไอซ์หีบเหล็ก-สมคิด พุ่มพวง” พร้อมเพิ่มมาตการคุมประพฤติ ยกเคส “ฉีดให้ฝ่อ” เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการทางการแพทย์

วันนี้ (26 ม.ค.) ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ปทุมวัน บางรัก สาทร และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายต่อสภาเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….” เพื่อใช้กำกับ ติดตาม ผู้มีแนวโน้มจะกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงซ้ำอีก หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ

ดร.พัชรินทร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้เราจะเห็นว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม, การข่มขืนกระทำชำเรา, การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก, การทำร้ายร่างกายสาหัส, การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น คดีฆาตกรต่อเนื่อง สมคิด พุ่มพวง, คดีไอซ์หีบเหล็ก ที่เป็นคดีสะเทือนขวัญคนทั้งประเทศ ซึ่งผู้กระทำความผิดนั้น เคยต้องโทษหรือเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันมาก่อน ทั้งข่มขืนกระทำชำเรา ทำร้ายร่างกายจนถึงชีวิต หรือล่าสุดคดีหัวหน้า รปภ. คอนโดแห่งหนึ่ง ที่ข่มขืนผู้อยู่อาศัยในคอนโดนั้น ก็เป็นผู้ที่เพิ่งพ้นโทษคดีข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี

“ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เรามักจะได้ยินคำพูดหนึ่งเสมอว่า ขอให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ไม่อยากให้เกิดกับใครอีก แต่ก็ยังคงมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้มีคำถามต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในสังคม ว่าเราจะต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวงต่อไปแบบนี้หรือ? ทั้งๆ ที่กฎหมายในปัจจุบันก็มีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตแล้ว ทำไมถึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้” ดร.พัชรินทร์ กล่าว

ดร.พัชรินทร์ ระบุว่า ในฐานะที่ตนได้ติดตามและผลักดันเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงและประชาชนมาโดยตลอด จึงได้ร่วมกับคณะเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….” ฉบับนี้ ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นการป้องกัน คือ ไม่ยอมปล่อยให้เหตุร้ายเกิดขึ้นแก่ประชาชนก่อน แล้วค่อยมาแก้ไขเยียวยาภายหลัง โดยมุ่งหวังที่จะลดการกระทำผิดซ้ำในคดีอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงให้ได้มากที่สุด เพื่อคุ้มครองทั้งผู้เสียหายและสังคม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้

โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ ก่อนที่จะปล่อยตัวผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงออกจากเรือนจำ ต้องได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บุคคลผู้นั้นจะไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำแบบเดิมอีก ซึ่งหากประเมินแล้วพบว่าบุคคลดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ก็จะมีมาตรการรองรับในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ
เริ่มต้นจาก การเข้าสู่กระบวนการกำกับ ติดตาม เป็นการเฝ้าระวังด้วยการคุมประพฤติภายหลังจากที่พ้นโทษแล้ว ยกตัวอย่างเช่น
- ให้พักอาศัยในสถานที่ที่ศาลกำหนด
- ห้ามออกนอกประเทศ
- ต้องแจ้งเมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน
- ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด
- ใส่อุปกรณ์ติดตามตัว
- ใช้มาตรการทางการแพทย์เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งการฉีดยาเพื่อลดฮอร์โมนเพศ หรือที่เรียกกันว่า “ฉีดให้ฝ่อ” ก็เป็นมาตรการทางการแพทย์อย่างหนึ่ง

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดได้รับการประเมินก่อนปล่อยตัว แล้วพบว่า การคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการกระทำผิดซ้ำได้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะก่อเหตุซ้ำ ก็สามารถคุมขังต่อไปได้อีกภายหลังจากที่พ้นโทษแล้ว หรือกรณีที่ผู้ถูกคุมความประพฤติฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็สามารถขอให้ศาลสั่งคุมขังได้ และหากเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีพฤติการณ์ใกล้จะกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง โดยไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะยับยั้งได้แล้ว ก็สามารถขอคุมขังฉุกเฉินได้ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและสังคมได้อย่างทันท่วงที


กำลังโหลดความคิดเห็น