MGR Online - “ปคบ.-อย.-สสจ.ภูเก็ต” บุกค้นโรงงานเถื่อนลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม สวมทะเบียนตำรับยา ของกลางเพียบ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
วันนี้ (22 พ.ย.) เวลา 15.30 น. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทน รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ ภก.สมนึก ฮาเส็ม เภสัชกรชำนาญการพิเศษ ร่วมแถลงผลจับกุมผู้ต้องหาลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม สวมยี่ห้อ “ยาน้ำแก้ไอ ไดเฟ็นนิล DIPHENYL EXPECTORANT SYRUP เลขทะเบียนตำรับยา 2A 58/60” จำนวน 21,250 ขวด วัตถุดิบในการผลิต จำนวน 16 รายการ ฉลากสติกเกอร์ ระบุ Diphenyl เลขทะเบียนตำรับยา 2A 58/60 140,000 ดวง, ขวดเปล่าสีชา 7,237 ขวด ฝาขวดมีสัญลักษณ์รูปไก่สีแดง 80,000 ฝา กล่องเปล่าสีน้ำตาล 1,840 ใบ แผ่นกันกระแทก 1,200 ชิ้น และ เครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิต 7 รายการ มูลค่าของกลางกว่า 30 ล้านบาท
พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดยาเสพติด 4x100 ในกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะในแถบจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศ มีการใช้ยาแก้ไอผิดวัตถุประสงค์ โดยนำมาผสมกับน้ำอัดลม และอาจผสมกับยาบางชนิดใช้สำหรับดื่มเพื่อความมึนเมาและเสพติด ซึ่งการปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ผลิตยาน้ำแก้ไอยี่ห้อดังกล่าว พบการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอ แต่ไม่ได้มาจากสถานที่ผลิตของตนเอง จึงได้สืบสวนกระบวนการลักลอบผลิตและจำหน่ายยาแก้ไอ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ภูเก็ต โดยวันที่ 28 ต.ค. 64 ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าตรวจค้นอาคารแห่งหนึ่งไม่ติดเลขที่ พบยาแผนปัจจุบัน ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 จำนวน 6 รายการ พร้อมขยายผลถึงแหล่งที่มาของยาที่ดังกล่าว โดยได้รับข้อมูลว่า ผู้กระทำความผิดได้สั่งซื้อยาดังกล่าวมาจาก นายแดน หรือนายธีรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) จึงสืบสวนหาข่าวจนทราบแน่ชัดว่า อาคารโกดังไม่ทราบเลขที่ภายในซอยลักกงษี ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เป็นสถานที่ผลิต ขาย และจัดเก็บยาปลอมจริง
“จากนั้น วันที่ 17 พ.ย. ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วม สภ. เมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่ อย. และ สสจ. ภูเก็ต นำหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ตเข้าตรวจค้นอาคารดังกล่าว พบการผลิตยาน้ำแก้ไอไดเฟ็นนิลของกลางทั้งหมด โดยเจ้าของโรงงานรับว่า สถานที่ดังกล่าวยังไม่ได้ขออนุญาตผลิตยาและรับว่าของกลางเป็นของตนเองมีไว้ผลิตยาแก้ไอเพื่อส่งขายจริง จึงได้ร่วมกันจับกุมและตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” พ.ต.อ.เนติ กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.อนันต์ เผยว่า สำหรับผู้ต้องหาที่ลักลอบผลิตยาปลอมในครั้งนี้ ได้ให้ข้อมูลว่า ลักลอบผลิตและจำหน่ายตามร้านขายยาใน จ.ภูเก็ต และทางภาคใต้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ บก.ปคบ., อย. และ สสจ. จะขยายผลเพื่อดำเนินการกับร้านขายยาที่นำยาดังกล่าวไปขายทั้งหมดให้ถึงที่สุด และขอฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า พบการระบาดของสารเสพติดชนิด 4x100 เป็นระยะๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งจะนำยาแก้ไอหรือยาแก้แพ้ชนิดน้ำเชื่อมมาผสมกับน้ำกระท่อม หรืออย่างอื่นแล้วแต่สูตรของแต่ละพื้นที่เพื่อเพิ่มความหวานให้กับเครื่องดื่ม แล้วนำมาดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเสียสุขภาพ และอาจก่อเกิดเหตุอาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามมา จึงต้องอาศัยผู้ปกครองหมั่นสอดส่องดูแลบุตรหลาน อย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้ยาในลักษณะดังกล่าว ผู้ปกครองต้องให้เวลากับครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องมีเวลาให้กับบุตรหลาน ให้ความรักความเข้าใจ และห้ามโทษว่าเป็นความผิดของเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยทุกคนในครอบครัวต้องร่วมกันรับผิดชอบและช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อให้เด็กสามารถกลับไปใช้ชีวิตในอนาคตได้ตามปกติ
ส่วนทาง นายสาธิต กล่าวว่า นอกจากการดำเนินการทางกฎหมายกับสถานที่ลักลอบผลิตยาแก้ไอโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ร้านขายยาที่นำยาแก้ไอดังกล่าวไปขายก็มีความผิดด้วยเช่นกัน ซึ่งได้สั่งการให้ อย. และ สสจ. ภูเก็ต ร่วมกันตรวจค้นร้านขายยาและดำเนินการตามกฎหมายและมาตรการทางปกครองอย่างถึงที่สุด ทั้งนี้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การควบคุมการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอที่มีไดเฟนไฮดรามีน หรือโปรเมทาซีน หรือ เดกซ์โตรเมธอร์แฟน เป็นส่วนประกอบ ได้จำกัดปริมาณการขายยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบของไดเฟนไฮดรามีน หรือโปรเมทาซีน หรือเดกซ์โตรเมธอร์แฟนจากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขายไม่เกินครั้งละ 3 ขวด เพื่อป้องกันการนำยาดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
นายสาธิต กล่าวอีกว่า ผู้รับอนุญาตและเภสัชกรมีหน้าที่จัดทำบัญชีซื้อและขายยาให้เป็นจริง หากพบร้านขายยาใดฝ่าฝืนกระทำความผิดซ้ำจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจะถูกเสนอคณะกรรมการยาให้ความเห็นชอบในการพักใช้ใบอนุญาตขายยาจนกว่าคดีถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีการรั่วไหลของยาดังกล่าวออกนอกระบบทำให้มีการแพร่ระบาดยาปลอมอยู่บ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ อย.และ สสจ. ทั่วประเทศจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. เฝ้าระวังและจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัดต่อไป
เบื้องต้น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ผลิตยาปลอม” “ขายยาปลอม” “ผลิตและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษสูงสดุ จำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท ส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป