xs
xsm
sm
md
lg

ออกหมายเรียก “ผู้บริหาร รพ.” เครือข่ายจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ออนไลน์ รับทราบข้อหา 4 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ปคบ. ร่วมภาคี ขยายผลตรวจค้นโรงพยาบาลเอกชน ย่านบางกะปิ พบหลักฐานลักลอบนำยาฟาวิพิราเวียร์ออกจำหน่ายทางออนไลน์ ออกหมายเรียกผู้บริหาร รพ. รับทราบข้อหา

วันนี้ (1 พ.ย.) เวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.), ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ ภก.กิตติ ระหงษ์ ผู้อำนวยการกองการขายภาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขาย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานขยายผลตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน ย่านบางกะปิ ลักลอบนำยาฟาวิพิราเวียร์ออกมาจำหน่ายนอกโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับอนุญาต

พ.ต.อ.เนติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ., อย. และ สบส. เข้าตรวจค้น 8 เป้าหมาย ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา 9 ราย เครือข่ายลักลอบขายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ยึดของกลาง จำนวน 390 กล่อง โดยผู้ต้องหาส่วนหนึ่งให้การว่ายาดังกล่าวได้มาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ ซึ่งสั่งซื้อมาจากองค์การเภสัชกรรมในนามโรงพยาบาลแล้วนำออกมาจำหน่ายเพื่อหากำไร จึงสืบสวนขยายผลถึงผู้เกี่ยวข้อง ต่อมา วันที่ 28 ต.ค. เจ้าหน้าที่ได้นำหมายค้นศาลอาญาเข้าตรวจค้นโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว

พ.ต.อ.เนติ เผยว่า ผลการตรวจสอบพบหลักฐานเอกสารในการสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม แต่ไม่พบประวัติการรักษาผู้ป่วยโควิดแต่อย่างใด และจากการสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่พบว่า รพ.ดังกล่าว มีผู้ป่วยโควิดเข้ามารับการรักษา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกผู้บริหาร รพ. มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

ด้าน พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า ฝากเตือนประชาชนขอให้ใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด ไม่ว่าจะเป็นยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์ เพราะมีผู้ฉวยโอกาสนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีคุณภาพมาตรฐานมาหลอกขายจำนวนมาก แนะควรเลือกซื้อจากร้านขายยาหรือร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ และขอเตือนผู้ที่กระทำฝ่าฝืนกฎหมายให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ กล่าวว่า ขอให้สถานพยาบาลทุกแห่งดำเนินกิจการอย่างมีจริยธรรมและจัดหายาให้ผู้ป่วยให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยจะจัดให้มีการส่งหนังสือเพื่อแจ้งไปยังสถานพยาบาลทุกแห่งให้ตรวจสอบการจัดหาและการจ่ายยาให้ผู้ป่วยอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต ทั้งนี้ หากการกระทำผิดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับวิชาชีพ สบส. จะดำเนินการแจ้งไปยังสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

ส่วนทาง ภญ.สุภัทรา เผยว่า อย. จะตรวจสอบรายงานการซื้อขายยาฟาวิพิราเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมที่ขายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของการขายว่ามีการรั่วไหลออกนอกระบบหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีผู้ลักลอบนำยาไปขายนอกระบบจะดำเนินมาตรการทางกฎหมาย

“ขอย้ำกับประชาชนว่าอย่าซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้เองจากออนไลน์ เพราะผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิดทุกรายจำเป็นต้องรักษาด้วยยานี้ ซึ่งหากผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในระบบของรัฐที่จัดไว้ให้จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อย่างทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด”

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 “ฐานไม่จัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพและจำนวนที่กำหนด, มีการเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษสูงสุดจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 “ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท” และ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 “ฐานประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”




กำลังโหลดความคิดเห็น