สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเตือนป้ายห้อยคอกันไวรัส คลอรีนไดออกไซด์บรรจุซอง ไม่มีประโยชน์ในการป้องกันโควิด-19 หรือไวรัสชนิดอื่น อย่าหลงเชื่อซื้อมาใช้เพราะห้อยคอไปก็ไม่มีประโยชน์ พบระบาดตั้งแต่กลางปี 2563 ขายผ่านออนไลน์ชิ้นละ 300-500 บาท
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในการแถลงข่าวตรวจยึดเครื่องมือแพทย์และวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต จากโกดัง 2 แห่งย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) ระบุว่า ป้ายห้อยคอกันไวรัส (Virus Shut Out) ที่มีการตรวจยึดได้จำนวนถึง 16,000 ชิ้น อยากชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนว่าป้ายห้อยคอกันไวรัสดังกล่าวทำจากคลอรีนไดออกไซด์บรรจุซอง แล้วทำเป็นป้ายห้อยคอ
“ผู้ใช้มีความเชื่อว่าจะสามารถป้องกันไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศบริเวณรอบตัวได้ แต่ในความจริงแล้วป้ายห้อยคอกันไวรัสดังกล่าวไม่ได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 หรือไวรัสชนิดอื่นได้แต่อย่างใด อย่าหลงเชื่อซื้อมาใช้ เพราะห้อยคอไปก็ไม่มีประโยชน์ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด” ภญ.สุภัทรากล่าว
สำหรับการตรวจค้นโกดัง 2 แห่งย่านบางกะปิ ลักลอบนำเข้าเครื่องมือแพทย์และวัตถุอันตราย พบของกลางชุดตรวจ ATK แบบซอง และแบบกล่อง 1,425 ชุด หน้ากากอนามัยรวมกว่า 350,000 ชิ้น ชุดกาวน์และพีพีอี 8,000 ชุด เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนปลายนิ้ว 3,000 ชิ้น และเทอร์โมมิเตอร์ 1,870 ชิ้น รวมทั้งป้ายห้อยคอกันไวรัส 16,000 ชิ้น และผลิตภัณฑ์ล้างจานใช้กับเครื่องล้างจาน และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการซักผ้าในระดับอุตสาหกรรมกว่า 100 แกลลอน รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.แนะนำประชาชนระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ควรเลือกซื้อจากร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบการได้รับอนุญาตจากเว็บไซต์ อย.ก่อน และขอเตือนผู้ที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะกำลังทำให้ผู้ป่วยโควิด หรือผู้ที่ต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าวเสียโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ป้ายห้อยคอกันไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาดในช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา นำมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในราคาชิ้นละ 300-500 บาท อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมาช่วยกรองอากาศ ป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ และสามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยได้ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถฆ่าเชื้อในอากาศ จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน หรือทางสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ผลิตภัณฑ์ลักษณะดังกล่าวต้องขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้าต่อ อย. และผ่านการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนจึงจะสามารถขายได้ ปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ขึ้นทะเบียนต่อ อย. และไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ ผู้ที่ฝ่าฝืนนำเข้าโดยไม่ขึ้นทะเบียนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ขออนุญาตนำเข้าจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอุปกรณ์ห้อยคอในรูปแบบต่างๆ ในสื่อออนไลน์ เช่น ปากกา พัดลม ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมาช่วยกรองอากาศ สามารถป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ ซึ่งไม่เป็นความจริง ก่อนหน้านี้เคยมีการจับกุมป้ายห้อยคอกันไวรัสมาแล้วเมื่อเดือน มี.ค. 2563 อย.และตำรวจ บก.ปคบ.เข้าตรวจอาคารพาณิชย์ย่าน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และบ้านพักย่านถนนสุขาภิบาล 5 เขตบางเขน กรุงเทพฯ พบป้ายห้อยคอกันไวรัสกว่า 100 แผ่น