MGR Online - ตำรวจน้ำจับเรือลักลอบขนน้ำมันดีเซล 1.2 ล้านลิตร ขณะลอยลำอ่าวไทย คุมกัปตันพร้อมลูกเรืออีก 8 คน มาสอบขยายผลหาเจ้าของต่อไป
วันนี้ (15 ต.ค.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ ผบก.รน. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รอง อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมตรวจสอบผลการจับกุมจับกุมกลุ่มขบวนการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยผิดกฎหมาย
สืบเนื่องจากวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กองบังคับการตำรวจน้ำ รับแจ้งจากสายลับ ว่า มีการลักลอบขนน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลผิดกฎหมายเข้ามาเพื่อจำหน่ายในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน จึงนำเรือตรวจการณ์พร้อมกำลังพลออกลาดตระเวน เมื่อไปถึงบริเวณปากร่องน้ำเจ้าพระยา พบเรือบรรทุกน้ำมันสีดำ หัวเรือเขียนชื่อ MITA 1 กำลังแล่นเข้ามาในร่องน้ำเจ้าพระยา จึงสั่งการให้หยุดและเข้าตรวจสอบ พบนายนิมิตร์ เพชรรัตน์ เป็นกัปตันเรือ พร้อมลูกเรืออีก 8 คน อยู่บนเรือดังกล่าว
จากการตรวจสอบพบน้ำมันดีเซลบรรทุกอยู่ในระวางเรือจำนวนหนึ่ง เมื่อตรวจสอบจากทะเบียนเรือ พบว่า มีระวางเรือความจุ 1.2 ล้านลิตร เมื่อสอบถามถึงเอกสารการได้มาของสิ่งของดังกล่าว เอกสารทะเบียนเรือ และใบอนุญาตใช้เรือ ไม่สามารถนำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ จึงควบคุมเรือเข้ามาและสั่งการให้ทิ้งสมอบริเวณปากคลองสรรพสามิต ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ
ต่อมาได้ประสานเจ้าหน้าที่ศุลกากร และเจ้าหน้าที่สรรพาสามิต เพื่อร่วมตรวจสอบ โดยเก็บตัวอย่างน้ำมันดีเซลที่บรรทุกในระวางเรือเพื่อทำการตรวจสอบหาสารมาร์คเกอร์ ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นน้ำมันดีเซลและพบค่าสารมาร์คเกอร์ มีความเข้มข้น 31 ซึ่งสารมาร์คเกอร์ดังกล่าวใช้สำหรับเติมน้ำมันส่งออกไปต่างประเทศ และได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เมื่อนำส่งออกไปแล้วจะไม่สามารถนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้อีก หากนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร ถือเป็นการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการกระทำผิดตาม 1. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ข้อหา ผู้ใดนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการ ศุลกากรฯ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน สิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ริบของนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่
2. พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 203, 204 ข้อหามีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่ไม่เสียภาษี เพื่อจำหน่าย หรือ จำหน่ายโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับตั้งห้าเท่าถึงสิบห้าเท่าของค่าภาษีที่ต้องเสีย หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ถือเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป