MGR Online - “ไตรยฤทธิ์” เผยหารือ อธิบดีกรมศุลกากร ประสานข้อมูลคดีรถหรูเลี่ยงภาษีผิดกฎหมาย พร้อมวางแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันในคดีสำคัญ
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่กรมศุลกากร เขตคลองเตย กรุงเทพฯ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าพบเพื่อหารือข้อราชการกับ นายพชร อนันต์ศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร และ นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติงานระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมศุลกากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยมีผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ
นายไตรยฤทธิ์ เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมศุลกากร มีบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเป็นบันทึกความตกลงภายใต้พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 22 ที่ผ่านมา โดย 2 หน่วยงานได้มีการประสานงานและปฏิบัติงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคดีสำคัญที่ต้องร่วมดำเนินการจำนวนมาก เช่น คดีรถยนต์ที่มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร หรือโดยหลีกเลี่ยงอากรด้วยการสำแดงราคาอันเป็นเท็จ ทำให้รัฐสูญเสียภาษีอากรพึงได้จำนวนมาก
นายไตรยฤทธิ์ เผยว่า การหารือวันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมศุลกากร มีความเห็นร่วมกันว่าเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมพยานหลักฐานให้มีความรวดเร็วและลดขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งขยายขอบเขตความร่วมมือไปยังเรื่องอื่นๆ จึงได้กำหนดประเด็นสำคัญที่จะร่วมกันดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานร่วมกัน ดังนี้ 1. จัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยเริ่มต้นจากประเด็นเกี่ยวกับคดีพิเศษในคดีรถหรูก่อน แล้วจึงขยายผลไปยังเรื่องอื่นๆ 2. เชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลกรมศุลกากรกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีรถหรูให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ 3. เน้นเสริมศักยภาพหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมศุลกากร ด้วยการจัดฝึกอบรมและการปฏิบัติการร่วมกัน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษสนับสนุนในการใช้สถาบันการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นสถานที่ฝึกอบรม รวมทั้งวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการพิเศษ
ทั้งนี้ ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และจะมีการทบทวนบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษให้มีความทันสมัย และครอบคลุมความร่วมมือในทุกมิติต่อไป