นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกทั้งใน-นอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ ซึ่งของในเขตปลอดอากรหลายพื้นที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำสินค้าใดๆ เข้ามาในพื้นที่ปลอดอากรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งออกนั้น ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้พื้นที่ปลอดอากรเป็นฮับ (Hub) ของภูมิภาค ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาลนั้น
แต่ปรากฏว่ากรมปศุสัตว์ได้ออกมาคัดค้านเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่าสินค้าปศุสัตว์ทุกประเภทจะต้องขอรับใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ตาม ม.31 แห่ง พรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 เสียก่อน จนกลายเป็นข้อขัดแย้งและเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อผู้ประกอบการอย่างมาก ที่จะต้องเพิ่มภาระ ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และเวลา ไปกับการตรวจลงตราของกรมปศุสัตว์ ซึ่งกรณีนี้กรมศุลกากรได้มีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วหลายครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ย.64 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แนะให้กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรให้แก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางบริหารโดยการหารือร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศ
โดยแนะนำให้พิจารณาผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในทางบริหารเพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินงาน ตลอดจนกำหนดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้เป็นภาระจนเกินสมควรแก่ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าปศุสัตว์เข้าไปในเขตปลอดอากรตาม ม.152 แห่ง พรบ.ศุลกากร 2560 และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยไม่กระทบต่อการคุ้มครองสุขภาพ และอนามัยของประชาชนจากความเสี่ยงของการเกิดและแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์ แต่ทว่าจนบัดนี้ การนำเข้าสินค้าปศุสัตว์เพื่อนำมาพักไว้ยังเขตปลอดอากรเพื่อผ่านแดนส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนก็ยังคงเป็นปัญหาเหมือนเดิม ไม่มีการร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อเพื่อประโยชน์ในการด้านการค้า การลงทุน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศแต่อย่างใด
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จำจะต้องนำความไปร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อสอบกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือใช้อำนาจในทางการขัดขวางประโยชน์ด้านการค้าของประเทศหรือไม่ โดยจะเดินทางไปยื่นร้องเรียนในวันศุกร์ที่ 8 ต.ค.64 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ (ตึก กพร.เดิม) ทำเนียบรัฐบาล