นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายให้การเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ทหาร กอ.รมน. ป.ป.ส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration : DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวสารระหว่างกัน
โดยในปีงบประมาณ 2564 (เดือนตุลาคม พ.ศ.2563-กันยายน พ.ศ.2564) กรมฯ ได้ตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรทั้งหมด 26,304 คดี คิดเป็นมูลค่า 3,203.4 ล้านบาท
สำหรับการตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรของประจำเดือนกันยายน 2564 มีจำนวน 2,920 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 88.3 ล้านบาท มีผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้
1.ผลการจับกุมยาเสพติด
- วันที่ 1 กันยายน 2564 กรมศุลกากรโดยด่านศุลกากรหนองคาย ได้ทำการตรวจสอบรถสินค้าที่ผ่านเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 พบกล่องสินค้าบรรจุเครื่องปรุงสำเร็จรูป จึงได้ตรวจสอบด้วยเครื่อง X-Ray พบสิ่งผิดสังเกตจึงเปิดตรวจหีบห่ออย่างละเอียดอีกครั้ง พบสินค้าประเภทผงปรุงรส จำนวน 31 ห่อ แต่มี 22 ห่อที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) จำนวนทั้งสิ้น 11 กิโลกรัม มูลค่า 3.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ สถิติการตรวจยึดยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในเดือนกันยายน 2564 มีจำนวน 13 คดี มูลค่า 8.88 ล้านบาท
โดยในปีงบประมาณ 2564 (เดือนตุลาคม พ.ศ.2563-กันยายน พ.ศ.2564) กรมฯ ได้จับกุมยาเสพติด จำนวน 171 คดี คิดเป็นมูลค่า 2,141.34 ล้านบาท
2. การจับกุมสินค้าเกษตร
- เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 กรมศุลกากรโดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ทำการตรวจค้นรถบรรทุก จำนวน 2 คัน บริเวณ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ พบสินค้าประเภท “ข้าวสาร” บรรจุกระสอบ กำเนิดต่างประเทศ โดยไม่มีหลักฐานผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น จำนวนรวม 660 กระสอบ น้ำหนักรวม 33,000 กิโลกรัม มูลค่า 6.51 แสนบาท
- เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 กรมศุลกากรโดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ทำการตรวจค้นรถบรรทุก บริเวณตลาดหอมกระเทียม ต.น้ำคำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พบสินค้าประเภทหอมหัวใหญ่ (หอมแขก) มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหลักฐานผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น จำนวน 1,550 กระสอบ น้ำหนัก 14,000 กิโลกรัม มูลค่า 2.11 แสนบาท
ทั้งนี้ สถิติการจับกุมสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน 2564 มีจำนวน 57 คดี มูลค่า 2.69 ล้านบาท
โดยในปีงบประมาณ 2564 (เดือนตุลาคม พ.ศ.2563-กันยายน พ.ศ.2564) กรมฯ ได้จับกุมสินค้าเกษตร จำนวน 655 คดี คิดเป็นมูลค่า 33.19 ล้านบาท
3. การจับกุมบุหรี่
- เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรปัตตานี ได้ทำการลาดตระเวนบริเวณแม่น้ำสายบุรี และบริเวณ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี พบชาย จำนวน 3 คน กำลังขนสิ่งของลักษณะคล้ายกล่องขึ้นจากเรือหางยาววางพักไว้ที่ริมฝั่งจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวและเข้าตรวจสอบ แต่กลุ่มชายทั้ง 3 ได้กระโดดขึ้นเรือและหลบหนีไป จากการตรวจสอบพบกล่องกระดาษสีน้ำตาล จำนวน 40 กล่อง ภายในพบเป็นบุหรี่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร บรรจุกล่องละ 50 แถว แถวละ 10 ซอง ซองละ 20 มวน รวม 400,000 มวน มูลค่า 1.6 ล้านบาท
- เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรปัตตานี ได้ทำการลาดตระเวนบริเวณถนนสายบุรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี พบชาย 2 คน ยืนอยู่ข้างทางลักษณะเหมือนกำลังเฝ้ากล่องสิ่งของจำนวนหนึ่งและมีท่าทางพิรุธต้องสงสัย เจ้าหน้าที่จึงหยุดรถและได้แสดงตนขอตรวจสอบ ชาย 2 คนดังกล่าวตกใจวิ่งหนีหายเข้าไปในป่าละเมาะริมทาง จากการตรวจสอบพบกล่องกระดาษสีน้ำตาล จำนวน 30 กล่อง ภายในพบเป็นบุหรี่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร บรรจุกล่องละ 50 แถว แถวละ 10 ซอง ซองละ 20 มวน รวม 300,000 มวน มูลค่า 1.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ สถิติการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเดือนกันยายน 2564 ได้แก่ 1.บุหรี่ จำนวน 85 คดี มูลค่า 11 ล้านบาท 2.บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 21 คดี มูลค่า 1.36 ล้านบาท
โดยในปีงบประมาณ 2564 (เดือนตุลาคม พ.ศ.2563-กันยายน พ.ศ.2564) กรมฯ ได้จับกุมบุหรี่ จำนวน 740 คดี คิดเป็นมูลค่า 189.3 ล้านบาท และจับกุมบารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 499 คดี มูลค่า 12.85 ล้านบาท