xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” รับฟังปัญหาสาว 17 ชิงทองในห้าง วอนสังคมให้โอกาสเด็กก้าวพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยุติธรรม สอบถามสาเหตุ สาว 17 ปี ก่อเหตุชิงทองที่ห้างดัง ลงมือเพราะเป็นเหยื่อแชร์ออนไลน์ ยอมรับห่วงอนาคตเด็ก เชื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้พบและพูดคุยกับ น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 17 ปี และมารดา สอบถามถึงปัจจัยและสาเหตุในการตัดสินใจกระทำผิดก่อเหตุชิงทรัพย์ทองคำรูปพรรณในห้างสรรพสินค้า จ.นนทบุรี

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการรับฟังข้อเท็จจริง จาก น.ส.เอ และทราบการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสม ตามที่ต้องปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เพราะเยาวชนรายนี้ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือก็ได้ตกเป็นเหยื่อแชร์ออนไลน์ ซึ่งโดนโกงเงินไปหลายหมื่นบาท แต่ด้วยความที่อายุยังน้อยเลยเลือกแก้ปัญหาในทางที่ผิด ตนขอยืนยันว่า ตนให้ความสำคัญกับเยาวชนทุกคนที่ประสบปัญหา แต่สิ่งที่ย้ำกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาตลอด คือ การใช้วิธีการให้โอกาส และแก้ไขปัญหาโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการศึกษา ฝึกอาชีพ ซึ่งต้องดำเนินการให้แก่เด็กทุกคน

“จุดแข็งของเด็กคนนี้คือเรียนดี มีเกรดเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์สูง ก็อยากขอให้ตั้งใจเรียนแบบนี้ต่อไป เยาวชนทุกคนสามารถผิดพลั้งได้ แต่ต้องรู้จักกลับตัว เวลานี้สิ่งที่ทำต้องยอมรับว่า น.ส.เอ ทำลงไปนั้นผิดกฎหมาย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็อยากให้มีกำลังใจสู้ต่อไปในเรื่องคดีความและเป็นคนดีของสังคมในวันข้างหน้า และผมก็อยากขอสังคมให้โอกาสกับเยาวชนที่กระทำผิดเพราะเด็กเหล่านี้เป็นเพียงคนที่ทำผิดพลาดที่รอการปรับพฤตินิสัย หากเราเปิดใจเยาวชนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต” นายสมศักดิ์ ระบุ

ด้าน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เผยว่า เวลานี้กรมพินิจฯ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนรายนี้ตามขั้นตอน โดยมีนักวิชาชีพต่างๆ ทั้งพนักงานคุมประพฤติ นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลวิชาชีพและนักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพ ร่วมกันสืบเสาะข้อเท็จจริง ประเมินความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำและความจำเป็นที่ต้องได้รับการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูสงเคราะห์ ช่วยเหลือ เพื่อประมวลข้อเท็จจริง ข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการพิจารณาต่อไป

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เผยอีกว่า ในกระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชนนั้น มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนสำนึกผิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกลับตนเป็นคนดี มากกว่าการลงโทษ ซึ่งมีเครื่องมือต่างๆ เช่น มาตรา 90 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เป็นมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาหลังฟ้องคดี มีหลักเกณฑ์และแนวทางที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกำหนดใช้กับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล ที่มุ่งเน้นในการให้โอกาส มีความสำนึกผิดและพร้อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นคนดีต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น