xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแพ่งยกคำร้องนักข่าวสายม็อบ ให้ตำรวจใช้กระสุนยางกับผู้ชุมนุมได้ แต่ต้องระมัดระวัง พร้อมกำชับสื่อทำตามหลักเกณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความโจทก์ มาฟังคำสั่งศาลแพ่ง
ศาลเเพ่งยกคำร้องของสื่อจาก voice TV, the matter และ Plus Seven ที่ขอให้ห้ามตำรวจใช้กระสุนยางควบคุมการชุมนุม ชี้ เจ้าหน้าที่สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสื่อมวลชน ขณะเดียวกัน กำชับให้สื่อทำตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานด้วย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (10 ส.ค.) ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ กรณีภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยนายธนาพงศ์ เกิ่งไพบูล กับพวกรวม 2 คน ซึ่งเป็นสื่อมวลชน จาก voice TV, the matter และ Plus Seven ที่อ้างว่าได้รับบาดเจ็บจากการใช้ยิงกระสุนยางของตำรวจ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับพวกรวม 4 คน โดยขอให้ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย

ซึ่งศาลพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งว่า ที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่โจทก์ทั้งสอง สื่อมวลชนอื่น และประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำการ หรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตบุคคลอื่น และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่กฎหมายและหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3(6) กำหนดมิให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีเจตนารมณ์ให้อำนาจฝ่ายบริหารมีอำนาจพิเศษบางประการ สำหรับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงการออกประกาศและข้อกำหนดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว

ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ห้ามชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

แต่การใช้อำนาจดังกล่าวไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ หากการใช้อำนาจของรัฐเป็นไปโดยไม่สุจริตเลือกปฏิบัติเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็นตามมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวหากมีผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ชุมนุมกระทำการอันฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว

จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจในการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้งดังนั้น กรณีใดมีความจำเป็นในการใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงของผู้ชุมนุมและเหตุการณ์


ภายหลัง น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความโจทก์ กล่าวว่า ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จำเลยที่ 1 สั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน ส่วนที่เราขอให้คุ้มครองชั่วคราว ห้ามเจ้าพนักงานตำรวจใช้กระสุนยางกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นไปตามคู่มือที่ออกตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ นั้น ศาลเห็นว่า ประเด็นนี้สถานการณ์การชุมนุมแต่ละครั้งไม่ชัดเจนว่า สื่อมวลชนถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงด้วยกระสุนยางทุกครั้งหรือไม่ ตำรวจไม่ได้พุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชนโดยตรง จึงคุ้มครองส่วนนี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน และโจทก์ที่เป็นสื่อมวลชนไม่สามารถขอให้ศาลสั่งคุ้มครองไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมได้
เมื่อถามว่า ศาลไม่ได้มีคำสั่งห้ามตำรวจใช้กระสุนยาง ในการควบคุมการชุมนุมของกลุ่มม็อบใช่หรือไม่

น.ส.จันทร์จิรา กล่าวว่า ใช่ แต่ศาลสั่งโดยครอบคลุมว่า ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งเราก็ยืนยันว่าสื่อมวลชนเป็นคนกลาง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งดังนั้นการจะใช้กระสุนยาง โดยไม่ระมัดระวังกับสื่อมวลชนทำให้เกิดความกลัวในการนำเสนอความจริงต่อสาธารณะและประสิทธิภาพลดลง อย่างไรก็ตาม ส่วนท้ายของคำสั่ง ศาลได้กำชับสื่อมวลชน ถ้าสื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่ โดยมีท่าทีคุกคาม หรือผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดการได้


สำหรับคำร้องที่โจทก์จะขอให้ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราว ดังนี้

1. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรง เช่น ใช้อาวุธปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำผสมสารเคมี ทำร้ายร่างกาย โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนสีขาวหรือสัญลักษณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นสื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนผู้มาชุมนุม หรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน

2. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน สั่งการเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน

3. ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนย่อมได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น