อดีตประธานศาลฎีกาแนะให้รัฐเร่งตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลคุ้มครองชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายไสลเกษ วัฒนะพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เปิดเผยถึงกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตพลาสติก ซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จนเกิดความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ว่า ทางศาลมีแนวคิดจะเปิดศาลคดีสิ่งแวดล้อมมาแล้ว แต่ติดที่ว่าจะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง ซึ่งจนไม่คิดว่าจะเป็นการแย่งงานกัน แต่ขอให้ตั้งศาลขึ้นโดยเร็วเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดในอนาคต สมัยที่ตนเป็นประธานศาลฎีกา ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ “ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม” ซึ่งพิจารณาทบทวนหลายรอบ เสนอให้รัฐบาลพิจารณา เราต้องมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดเล้อมที่ใช้ร่วมกันได้ เพื่อให้คดีที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมมีความรวดเร็ว มีการบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพ จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องช่วยกันผลักดันกฎหมายนี้
“กฎหมายฉบับนี้มีความพิเศษ ตรงที่นอกจากจะบังคับเรียกค่าเสียหายจากเอกชน ผู้ประกอบการที่ประมาท เลิ่นเล่อ แล้วยังมีหลักการ ว่า หากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลโรงงาน หรือกิจการที่ละเมิดก่อความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว ละเลยไม่ดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายก็ถือว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีโทษ และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย สามารถเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐได้ นอกจากจะเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการไปแล้ว ดังนั้นต่อไปนี้หน่วยงานของรัฐจะต้องไม่ดูอยู่เฉยๆ ถ้ากฎหมายออกมาก็จะดูแล ครอบคลุม ประชาชา และผู้เสียหาย หน่วยงานของรัฐต้องออกมาดูแล วางมาตรการต่างๆ ซึ่งจะช่วยได้มาก” นายไสลเกษ กล่าว