MGR Online - รองโฆษก ตร. เตือนประชาชนตรวจสอบแหล่งสินค้าที่น่าเชื่อถือก่อนตัดสินใจซื้อของออนไลน์ พบเพจขายของ “ไม่ตรงปก” เพียบ ระวังตกเป็นเหยื่อ
วันนี้ (8 ก.ค.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. และในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) บุกทลายโกดังสินค้าแห่งหนึ่งย่านราษฎร์บูรณะ โดยได้ตรวจยึดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท เตารีด พัดลม ไมโครเวฟ ที่ไม่มีคุณภาพกว่า 3,000 ชิ้น ซึ่งพบว่าใช้วิธีการแอบอ้างหลอกลวงผู้บริโภคผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก เพราะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ประชาชนเข้าถึงง่ายและมีการใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยจะใช้วิธีลงประกาศโฆษณาสินค้าแบรนด์ดังเป็นยี่ห้อที่มีคุณภาพและเป็นที่รู้จัก แต่นำมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก ทำให้ประชาชนตัดสินใจซื้อโดยไม่ทันได้ตรวจสอบข้อมูลร้านค้า
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เผยว่า หากต้องการซื้อสินค้าจะให้กรอกชื่อที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ จากนั้นจะจัดส่งสินค้าให้กับผู้สั่งซื้อแบบเรียกเก็บเงินปลายทาง ส่วนใหญ่ช่วงที่สินค้ามาส่ง จะเป็นช่วงเวลากลางวัน คนที่รับสินค้าอาจเป็นผู้สูงอายุ หรือ ญาติ เป็นผู้รับสินค้าแทน แต่ปรากฏว่า เมื่อผู้สั่งสินค้ามาเปิดดูสิ่งของภายหลัง จะพบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือที่เรียกว่า “ไม่ตรงปก” ตั้งแต่ยี่ห้อก็ไม่ใช่ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เมื่อผู้สั่งซื้อไม่พอใจจะเรียกร้องหรือส่งคืนสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพทำได้อย่างยากลำบาก ไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ หรือหากติดต่อได้ก็จะมีขั้นตอนมากทำให้เสียเวลา จนผู้สั่งซื้อท้อใจเลิกไปเอง
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เผยอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ในกรณีดังกล่าวจึงขอประชาสัมพันธ์ ให้ใช้วิจารณญาณในการสั่งซื้อสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลร้านค้าก่อนสั่งซื้อสินค้า ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงร้านค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะชื่อร้านค้าในสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้พยัญชนะภาษาอังกฤษผสมคำในลักษณะอ่านเป็นคำไม่ได้ การติดต่อสอบถามจะผ่านการแชตเท่านั้นซึ่งจะใช้ระบบอัตโนมัติตอบ โดยมักจะตอบไม่ตรงคำถาม อีกทั้งจะมีการลบความคิดเห็นในแชตที่มีผลในเชิงลบกับร้านค้า ไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อกับร้านค้า หรือหากมีก็ไม่สามารถติดต่อได้
“2. ควรเลือกซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือร้านค้าออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือ 3. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือจาก ข้อมูลความคิดของลูกค้าที่เคยซื้อ (รีวิว แต่ต้องระวังรีวิวจัดตั้งสนับสนุนร้านค้า) 4. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์หรือเพจจำหน่ายสินค้า หากมีการจัดโปรโมชัน เช่น ลด แลก แจก แถมในราคาที่อาจเกินความเป็นจริง อาจสอบถามไปยัง call center หรือ แผนกบริการสัมพันธ์ของยี่ห้อ/เจ้าของผลิตภัณฑ์ว่ามีจริงหรือไม่อย่างไร”
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เผยต่อว่า 5. ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า เช่น ชื่อร้าน ชื่อผู้ขาย หมายเลขบัญชีร้านค้า ฯลฯ ทางเว็บไซต์ search engine หรือ เพจเฟซบุ๊กที่รวบรวมข้อมูลผู้ขายที่มีประวัติการโกงลูกค้า เพื่ออาจทราบถึงประวัติการโกงลูกค้า 6. เลือกซื้อสินค้าในเว็บไซต์ หรือเพจขายสินค้าที่มีหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้จริง สำหรับสอบถามรายละเอียดของสินค้า หรือ ขอความช่วยเหลือกรณีสินค้าที่ซื้อมีปัญหา และ 7. หากตกลงรับสินค้าและชำระเงินค่าสินค้าแล้ว พบภายหลังว่าสินค้าไม่เป็นไปตามโฆษณา หรือมีลักษณะผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงขายสินค้า สามารถนำหลักฐาน (ข้อมูลการโฆษณาของร้านค้า, หลักฐานการสั่งซื้อ, หลักฐานการชำระเงิน, สินค้าที่ได้รับ ฯลฯ) เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ หรือ บก.ปคบ. ได้
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นสินค้าที่มีการขายผ่านช่องทางออนไลน์ในรูปแบบดังกล่าว หรือ มีการขายสินค้าในลักษณะหลอกลวงขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามโฆษณาสามารถแจ้งข้อมูล ได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. โทร. 1135 หรือผ่านทางเว็บไซต์ บก.ปคบ. www.cppd.go.th