MGR Online - บก.ปคบ. บุกค้นโกดังสินค้าย่านราษฎร์บูรณะ จับผู้ต้องหา 1 ราย ยึดเครื่องใช้ไฟฟ้าปลอมยี่ห้อดังจำนวนมาก มีผู้เสียหายกว่า 50 ราย เสียหายกว่า 3 ล้านบาท
วันนี้ (6 ก.ค.) เวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.วริษฐ์ ปทุมารักษ์ ผกก.3 บก.ปคบ. และ ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแถลงผลการจับกุม นายสมพงษ์ แซ่หลี่ อายุ 26 ปี บ้านเลขที่ 4 ม.8 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พร้อมของกลาง เตารีดไฟฟ้า จำนวน 3,091 หน่วย พัดลม จำนวน 96 หน่วย และ เครื่องไมโครเวฟ จำนวน 58 หน่วย โดยจับกุมได้ที่โกดังแห่งหนึ่งย่านราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 64 สภาองค์กรของผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามายื่นหนังสือให้ ปคบ. ตรวจสอบเว็บไซต์และเฟซบุ๊กจำนวนกลุ่มหนึ่ง มีพฤติการณ์หลอกขายสินค้าประเภทเตารีดไฟฟ้าและพัดลมไอน้ำยี่ห้อดัง แต่เมื่อส่งสินค้ากลับเป็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีน รวมทั้งไม่มียี่ห้อ ไม่มีคุณภาพผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ให้กับลูกค้าตามโฆษณา เมื่อลูกค้าจ่ายเงินปลายทางและตรวจสอบปรากฏว่าได้รับสินค้าไม่ตรงตามรายการที่ได้สั่งซื้อไว้แต่แรก เบื้องต้นมีผู้เสียหายกว่า 50 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท
ด้าน พ.ต.อ.วริษฐ์ เผยว่า กก.3 บก.ปคบ. ได้รับมอบหมายดำเนินสืบสวนและขอศาลอนุมัติหมายค้นโกดังแห่งหนึ่งย่านราษฎร์บูรณะ พบผู้ต้องหาแสดงตนเป็นผู้ดูแล และนำตรวจค้นปรากฏว่า เป็นโกดังรับคืนสินค้าจากลูกค้าทั่วประเทศ พบเตารีดไฟฟ้า , พัดลมไอน้ำ โดยไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้ตรวจยึดของกลางทั้งหมดไว้เพื่อตรวจสอบ ก่อนแจ้งข้อหา และขยายผลผู้เกี่ยวข้องในขบวนการนี้ เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
“เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 มีประชาชนได้ใช้บริการช็อปปิ้งออนไลน์เพิ่มเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพใช้โอกาสในการหลอกลวง ประกอบกับมีประชาชนเคยได้รับความเสียหายแล้วเป็นจำนวนมาก บก.ปคบ. ฝากเตือนให้เพิ่มความระมัดระวัง และตรวจสอบสินค้าให้ละเอียด ก่อนสั่งซื้อหรือชำระเงินปลายทาง ซึ่งผู้บริโภคต้องตรวจสอบก่อนรับสินค้าจากพนักงานทุกครั้ง” พ.ต.อ.วริษฐ์ กล่าว
เบื้องต้น ได้แจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 “นำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต เข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร” และ “โฆษณาเพื่อจำหน่ายหรือมีไว้เพื่ อจำหน่ายซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร”