xs
xsm
sm
md
lg

ทลายโรงงานผลิตน้ำปลา-น้ำมันปาล์มเถื่อน ลักลอบจำหน่ายร่วม 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ปคบ. ร่วม อย. บุกปิดโรงงานเถื่อนแอบผลิตน้ำปลา น้ำมันปาล์ม น้ำกระเทียมดองไม่ได้คุณภาพ จับกุมผู้ต้องหา 1 ราย พร้อมของกลางส่งดำเนินคดี

วันนี้ (21 มิ.ย.) เวลา 11.00 น. กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงผลการปฏิบัติการจับกุมผู้ลักลอบผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมของกลางน้ำมันปาล์มยี่ห้อ “หยดทิพย์” 900 ถุง น้ำกระเทียมดองยี่ห้อ “โอเค” 800 ขวด น้ำปลายี่ห้อ “ครัวไทย” 360 ขวด น้ำส้มสายชู ยี่ห้อ “ครัวไทย” 180 ขวด ขวดพลาสติกสำหรับบรรจุ 20,000 ขวด และเครื่องจักรที่ใช้สำหรับผลิตอาหาร

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากชุดสืบสวน บก.ปคบ. ได้ดำเนินการตรวจสอบหาสถานที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้คุณภาพหรือผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ที่จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปตามท้องตลาดที่หากบริโภคแล้วอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย และตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มยี่ห้อ “หยดทิพย์” น้ำปลายี่ห้อ “ครัวไทย” ซึ่งวางขายตามตลาดนัดมีลักษณะไม่ได้คุณภาพ จึงได้ประสานกับ อย. ตรวจสอบเลขสารบบอาหารและสถานที่ผลิต พบว่า เป็นผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่ลักลอบผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวอีกว่า ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นของศาลแขวงชลบุรี เข้าตรวจค้นบ้านพักหลังหนึ่งในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ต.ห้วยกะปี อ.เมือง จ.ซลบุรี พบว่าภายในบ้านใช้เป็นสถานที่ผลิตอาหารประเภทน้ำปลา น้ำมันปาล์ม และน้ำกระเทียมดอง ตรวจสอบพบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตเป็นสถานที่ผลิตอาหาร จึงตรวจยึดของกลางดังกล่าวและจับกุมผู้ต้องหา 1 ราย ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านพัก พร้อมรับสารภาพว่า ได้ลักลอบผลิตน้ำปลา น้ำส้มสายชู และน้ำกระเทียมดอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจริง โดยจะจำหน่ายให้พ่อค้าเพื่อนำไปขายตามตลาดนัดพื้นที่ จ.ชลบุรี ในราคาถูก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลไปตรวจยึด น้ำปลา 360 ขวด น้ำส้มสายชู 180 ขวด ยี่ห้อ “ครัวไทย” จากร้านขายของชำใน อ.ศรีราชา ซึ่งรับซื้อจากโรงงานดังกล่าวมาประมาณ 1-2 ปี จึงได้ตรวจยึดของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

“ปัจจุบันมีการลักลอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้คุณภาพมาจำหน่ายให้ประชาชน ซึ่งประชาชนที่บริโภคเข้าไปอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ผสมในอาหาร หรืออาจได้รับอันตรายจากกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาดจนเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตได้ บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. ดำเนินการเชิงรุกในการสืบสวนหาแหล่งผลิตดังกล่าวมาโดยตลอดเพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และขอแจ้งเตือนให้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด ลักลอบผลิตอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค” ผบก.ปคบ. กล่าว

ด้าน ภญ.สุภัทรา เผยว่า ทุกวันนี้เครื่องปรุงรสเป็นของที่คู่ครัวกับสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกับน้ำปลา ซอสปรุงรส น้ำกระเทียมดอง และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น เพราะเป็นเครื่องปรุงที่เพิ่มรสชาติในการประกอบอาหารของคนไทย จึงทำให้มีผู้ฉวยโอกาสลักลอบผลิตน้ำปลาปลอมที่ไม่มีคุณภาพมาจำหน่ายตามตลาดนัด และร้านขายของชำแทบทุกแห่ง โดยอ้างว่าซื้อตัดล็อตและขายในราคาที่ถูก การจับกุมในครั้งนี้เป็นอาหารปลอมที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน อาจทำให้เกิดอาการแพ้จากการใช้สีผสมอาหาร หรือกรดอะซิติก ซึ่งหากผู้ผลิตใช้สีย้อมผ้า หรือสีย้อมกระดาษ ซึ่งมีโลหะหนักพวกตะกั่ว ปรอท สารหนู สังกะสี โครเมียม ปะปนอยู่ หากเกิดการสะสมในร่างกายอาจทำให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ โลหิตจาง ถ้าสะสมมากขึ้นจะมีอัมพาตที่แขน ขา เพ้อ ชักกระตุก หมดสติ ในกรณีเฉียบพลัน จะมีอาการคลื่นไส้ ท้องเดิน ปวดมวนท้องรุนแรง  เป็นต้น

ภญ.สุภัทรา เผยต่อว่า ในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากกรดอะซิติก หากบริโภคในปริมาณที่มากอาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่ออก จึงขอเตือนผู้บริโภคว่า ก่อนซื้อ ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง ควรตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตทาง Oryor Smart Application หรือเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง ไม่ซื้อของที่มีราคาถูกเกินไป หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน "ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมซึ่งเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น" ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน-10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท ฐาน "ผลิตอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง" ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท








กำลังโหลดความคิดเห็น