xs
xsm
sm
md
lg

รวบหนุ่มจีนลอบขายเครื่องสำอางปลอมยี่ห้อดังทางออนไลน์ ดาราพรีเซนเตอร์ร่วมมอบดอกไม้ขอบคุณ จนท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ปคบ. สนธิ อย. ทลายโกดังจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมยี่ห้อดัง จับกุมชาวจีนอ้างเป็นเจ้าของสินค้า มูลค่าของกลางกว่า 5 ล้านบาท ด้าน “ทนายเจมส์-แพท-พิม-สุนารี” ขอบคุณเจ้าหน้าที่ช่วยจับกุม

วันนี้ (8 มิ.ย.) เวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงผลจับกุมแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมยี่ห้อดัง มูลค่าของกลางกว่า 5 ล้านบาท โดยมี ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต, แพท ณปภา ตันตระกูล, พิม พิมประภา ตั้งประภาพร และ สุนารี ราชสีมา ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ เดินทางมามอบดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวว่า บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ Dr.JIl ทางสื่อสังคมออนไลน์ ในราคาที่ถูกกว่าปกติ เชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม พร้อมประสาน อย. ดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนพบแหล่งที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ต่อมา วันที่ 2 มิ.ย. จึงนำหมายค้นของศาลแขวงบางบอน เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า ซอยกำนันแม้น 13 แขวงคลองบางพราน เขตบางบอน กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าว จำนวน 4,400 กล่อง และ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Facial Mak BLOOD ORANGE จำนวน 38,400 ซอง ซึ่งทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงได้ตรวจยึดเป็นของกลางส่งตรวจและจับกุมชายชาวจีน อายุ 33 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของโกดังและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด อ้างว่าต้นทุนกล่องละ 150 บาท แต่จำหน่ายราคา 700-800 บาท โดยราคาจริงขายอยู่ ราคา 1,290 บาท หลังจากนี้ จะขยายผลหาแหล่งผลิตต้นทาง พร้อมนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

“ปัจจุบันมีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมยี่ห้ออื่นจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าปกติ ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. และอาจมีสารอันตรายปลอมปนอยู่ ขอแจ้งเตือนให้ผู้กระทำความผิดหยุดการกระทำดังกล่าว หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในร้านที่เชื่อถือได้ หากสงสัยหรือพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค”

ด้าน ภญ.สุภัทรา เผยว่า เครื่องสำอางปลอมที่ยึดได้ในครั้งนี้พบว่า มีการปลอมหมายเลข อย. ปลอมแหล่งผลิต และลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ ก่อนมาจำหน่ายตามร้านค้าออนไลน์ในราคาถูกทำให้ผู้บริโภคได้รับเครื่องสำอางที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานและไม่ทราบแหล่งผลิตว่าอยู่ที่ใด แต่ขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียหายแพ้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงขอเตือนผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทาง Oryor Smart Application หรือเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง

ภญ.สุภัทรา เผยอีกว่า ฝากเตือนผู้บริโภคไม่ซื้อเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง ไม่มีฉลากหรือแสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ หรือที่มีราคาถูกเกินไป และอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณที่เกินไปจากความเป็นเครื่องสำอาง การที่โฆษณาสรรพคุณขาว ภายใน 7 วัน แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งผิวที่ดูขาวจะกลายเป็นดำคล้ำเป็นฝ้าถาวรหรือเป็นแผลเป็นถาวรไม่สามารถรักษาให้หายได้

ภญ.สุภัทรา เผยต่อว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหน้าดำ ผิวบางลง แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย ผิวแตกลายถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับสารปรอทในปริมาณมาก อาจเกิดพิษสะสม ส่งผลให้ตับอักเสบ ซึ่งเคยมีผู้แพ้สารปรอทในเครื่องสำอาง จนเสียชีวิตมาแล้ว หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556

ขณะที่ ทนายเจมส์ เผยว่า ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจและ อย. ช่วยติดตามคดีจนนำสู่การจับกุมคนร้ายได้ในที่สุดเพราะคดีนี้ได้กระทำความผิดต่อเนื่องมากว่า 2 ปี และยังมีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายพยายามลอกเลียนแบบสินค้าของบริษัทมาโดยตลอด

เบื้องต้น ได้แจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม, ขายเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง, ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ฐาน “จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร”




กำลังโหลดความคิดเห็น