MGR Online - บช.น.แถลงเตรียมความพร้อมรับมือม็อบ 24 มิ.ย. เตือนห้ามผ่านอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ทำเนียบฯ กางเส้นทางหลีกเลี่ยง แนะนำ เผย ยังไม่ขออนุญาตกรุงเทพฯ การข่าวไม่พบความรุนแรง เน้นรักษาความสงบเรียบร้อย ผบช.น.วอนช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ก่อน
วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.(จราจร) และ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น.(กฎหมาย) แถลงมาตรการเตรียมความพร้อม กรณีประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการชุมนุม จัดกิจกรรมหลายกลุ่มหลายแห่งในวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.)
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุม และทำกิจกรรม ประกอบด้วย 1. กลุ่มราษฎร กลุ่มวีโว่ และกลุ่มแนวร่วม จัดกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา กิจกรรมช่วงแรก ตั้งแต่เวลา 05.00-07.00 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์และอ่านแถลงการณ์, กิจกรรมช่วงที่สอง ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยเคลื่อนขบวนออกจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไปยังรัฐสภา (เกียกกาย) โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินกลาง - ถนนนครสวรรค์ - ถนนพิษณุโลก - ถนนพระราม 6 - ถนนทหาร - แยกเกียกกาย - รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, กิจกรรมช่วงที่สาม ตั้งแต่เวลา 17.00 น. บริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวัน เพื่อจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
2. กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดย นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา ตั้งแต่เวลา 14.00 น. บริเวณแยกอุรุพงษ์ จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาล ฝั่งศาลกรมหลวงชุมพร ถนนพิษณุโลก
3. กลุ่มไทยไม่ทนฯ นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. บริเวณแยกผ่านฟ้า หากมีมวลชนจำนวนมากจะไม่มีการเคลื่อนขบวน แต่หากมีมวลชนน้อยจะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล ฝั่งโรงเรียนราชวินิต บช.น.ยืนยันว่า มีความพร้อมในการรักษาความสงบเรียบร้อย เบื้องต้นใช้กำลัง คฝ.ไว้จำนวน 17 กองร้อย โดยมอบหมาย พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น.เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติในภาพรวม
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในการชี้แจงในวันนี้ 1. เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่า การจัดการชุมนุม การจัดกิจกรรม ในช่วงเวลาและสถานที่ต่างๆ อาจกระทบต่อการสัญจรไปมา หรือการใช้ชีวิตโดยปกติ ประชาชนจะได้สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทาง ที่มีการชุมนุมการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้
2. เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่า การชุมนุม การจัดกิจกรรม ต่างๆ เหล่านี้ ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานครได้มีการออกประกาศ ฉบับที่ 33 ควบคุมการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ดังนั้น การทำกิจกรรมต่างๆ อาจฝ่าฝืนกฎหมาย คำสั่ง หรือประกาศที่เกี่ยวข้องได้
3. เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติของตำรวจ จะเน้นการรักษาความสงบเรียบร้อย การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค สำหรับการตั้งเครื่องกีดขวาง จะไม่มีการตั้งหากไม่จำเป็น เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ยกเว้นการชุมนุมนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน หรือสถานที่สำคัญ
4. การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมต่างๆ หากพบว่ามีการกระทำผิด จะต้องมีการดำเนินคดีตาม
กฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย สำหรับแกนนำ หรือผู้จัดกิจกรรม ที่อยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล โดยมีเงื่อนไขก็ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากพบว่าบุคคลใดไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ตำรวจมีความจำเป็นทำรายงานเสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลได้พิจารณาตามกระบวนการต่อไป
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวต่อว่า ตนไม่หนักใจในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุม ยืนยันว่ามีความพร้อมในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเน้นเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก และให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ถ้าการชุมนุมมีความวุ่นวาย หรือพิจารณาแล้วอาจเกิดอันตรายต่อผู้อื่น ทรัพย์สิน หรือสถานที่สำคัญ ก็ต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่หากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ประชาชนไม่เดือดร้อน ก็รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีตามปกติ เนื่องจากการชุมนุมในขณะนี้มีความผิดจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ตนเชื่อปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองรัฐบาลกำลังพิจารณา เรามีช่องทางในการชี้แจงปัญหาความเดือดร้อน หรือเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว
สำหรับขั้นตอนการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นดุลพินิจของศาล หากตำรวจพิจารณาแล้วพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไข ก็จะรวบรวมพยานหลักฐานและนำเรียนศาล เพื่อพิจารณาต่อไปก็เป็นอำนาจของศาล โดยมีเงื่อนไขอยู่หลายข้อขอให้ปฏิบัติตามนั้น นอกจากการชุมนุมในขณะนี้ถือว่าผิดกฎหมายแล้ว หากมีการเคลื่อนขบวนตำรวจก็ต้องจัดการจราจร ให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ได้ประกาศไปแล้วว่าการชุมนุม หรือทำกิจกรรมอาจกระทบ สร้างความเดือดร้อน สร้างความไม่ปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน หรือกระทบต่อการักษาความปลอดภัย ตำรวจมีความจำเป็นต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่มีการขออนุญาตใช้สถานที่จากกรุงเทพฯ และจะไม่มีการปักหลักค้างคืน
“ตำรวจไม่มีความจำเป็นต้องใช้กำลังอยู่แล้ว เงื่อนไขการใช้กำลังต้องดูว่าการชุมนุมวุ่นวายหรือไม่ กระทบต่อความปลอดภัยผู้อื่น กระทบต่อทรัพย์สิน กระทบต่อการรักษาความปลอดภัย และกระทบต่อสถานที่สำคัญหรือไม่ หากเข้าเงื่อนไขตำรวจก็ต้องดำเนินการ จากการข่าวยังไม่พบผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ผมไม่ทราบว่าการชุมนุมสำคัญกว่าเรื่องการควบคุมโรคอย่างไร ก็ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันแก้ปัญหาสำคัญไปก่อน ผมว่าคนไทยทุกคนก็รักประเทศ” น.1 กล่าว
พล.ต.ต.สุคุณ กล่าวว่า ผลสรุปการดำเนินคดีในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในความรับผิดชอบของ บช.น.ปัจจุบันมีการดำเนินคดีการชุมนุมทั้งหมด 217 คดี แบ่งเป็นคดีการชุมนุมทั่วไป 164 คดี คดีเกี่ยวกับความมั่นคง 53 คดี พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 159 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 58 คดี การสอบสวนอยู่ระหว่างชั้นพนักงานสอบสวน ส่งสำนวนให้อัยการไปแล้วบางส่วน และคดีที่อยู่ในชั้นศาลทั้งหมด 30 คดี แบ่งเป็นคดีการชุมนุมทั่วไป 19 คดี คดีเกี่ยวกับความมั่นคง 11 คดี
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า การบริหารจัดการจราจรในการชุมนุมในวันที่ 24 มิ.ย. มีหลายกลุ่มและหลายกิจกรรม อาจส่งผลกระทบต่อการจราจร โดยสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา (เกียกกาย) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกปทุมวัน หรือสกายวอล์ก สำหรับเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง จุดที่ 1 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้แก่ ถนนราชดำเนินกลาง และถนนตะนาว
เส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง จุดที่ 2 ทำเนียบรัฐบาลแล้วเดินทางไปตามถนนราชดำเนินกลาง - ถนนนครสวรรค์ - ถนนพิษณุโลก - ถนนพระราม 6 - ถนนทหาร - แยกเกียกกาย - รัฐสภา ได้แก่ ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนตะนาว ถนนดินสอ ถนนลูกหลวง ถนนประชาธิปไตย ถนนนครราชสีมา ถนนนครสวรรค์ ถนนพิษณุโลก ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 5 และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
สำหรับเส้นทางที่แนะนำให้ไปใช้ ได้แก่ (ทิศเหนือ) ถนนสุโขทัย ถนนนครชัยศรี ถนนเศรษฐศิริ ถนนอำนวยสงคราม สะพานกรุงธน (ซังฮี้) สะพานพระราม 7, (ทิศตะวันออก) ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน ถนนพระราม 6 ถนนสวรรคโลก ทางด่วนศรีรัช, (ทิศใต้) ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถนนหลานหลวง ถนนบำรุงเมือง ถนนวรจักร ถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4, (ทิศตะวันตก) ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนบรมราชชนนี ถนนอรุณอัมรินทร์ สะพานพระราม 8 สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมผู้ร่วมชุมนุมอาจมีการเปลี่ยนแปลง บช.น.ได้จัดเตรียมกำลังตำรวจจราจร คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากต้องการสอบถามข้อมูลเส้นทาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ WWW.TRAFFICPOLICE.GO.TH และสามารถดาวน์โหลดแผนที่จราจรเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางได้ที่ไลน์ “Police Traffic News”
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า บช.น.ขอย้ำเตือนการชุมนุมในครั้งนี้ เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้จัดการชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเป็นความผิดข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย. 64 ประกอบกับหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 5 มี.ค. 64 ประกอบประกาศกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิ.ย.64 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 58 มาตรา 34 อนุ 6 และมาตรา 51 ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย กรณีผู้ชักชวนให้มีการรวมตัวกันไม่ว่าทางโซเชียล หรือทางหนึ่งทางใดก็ตาม ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ผู้จัดเวที รถเครื่องเสียง รถสุขา ผู้สนับสนุนอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดในการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามกฎหมายด้วย อาจได้รับโทษตามกฎหมาย
ส่วนแกนนำที่จะมาร่วมการชุมนุม หรือผู้เชิญชวนชักชวนให้มาร่วมการชุมนุมยังเป็นจำเลย หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงอยู่ระหว่างการประกันตัว โดยมีเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราว สำหรับผู้ที่ได้รับการประกันตัว และศาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ เช่น ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา, ห้ามเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะที่เป็นการก่อความวุ่นวาย ความไม่สงบในบ้านเมือง, ห้ามพกพาอาวุธเข้าไปร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่” จึงแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในระหว่างประกันตัว ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืน บช.น.จะทำการร้องขอต่อศาล พิจารณาให้ถอนการให้ประกันตัว.