ศาลยุติธรรม แจงขั้นตอนสอบข้อเท็จจริงและสอบวินัย และย้ายอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 ไปช่วยทำงานศาลอุทธรณ์ภาค 1 จากเหตุถูกกล่าวหาก้าวก่ายแทรกแซงคดีอดีตรองเลขาฯ ป.ป.ช.ฟ้องกรรมการ ป.ป.ช.- อสส. ยืนยันพร้อมให้สิทธิแก้ต่างเต็มที่
จากกรณีที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนช่วงระยะหนึ่งเกี่ยวกับคำสั่งย้าย นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 สืบเนื่องจากเรื่องที่มีการร้องเรียนกล่าวหาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำ อท.84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่มีรองเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรรมการ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุด (นายประหยัด พวงจำปา โจทก์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ จำเลยที่ 1 น.ส.สุภา ปิยะจิตติ จำเลยที่ 2 นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ จำเลยที่ 3) กระทั่งปรากฏข่าวอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 ยื่นฟ้องกรรมการ ป.ป.ช.ความผิดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาฯ และยื่นฟ้องประธานศาลฎีกากล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยนั้น
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงเหตุและขั้นตอนดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นสืบเนื่องจากนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงการพิจารณา คดีหมายเลขดำ อท.84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ความและกระบวนการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรมจึงมีคำสั่งวันที่ 25 มี.ค. 64 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว และในวันที่ 26 มี.ค. 64 มีหนังสือแจ้งให้นายปรเมษฐ์ ทราบแล้ว
ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า มีพฤติการณ์อันส่อว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 77(1) (3) ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 21 วรรคสอง ระบุว่า การสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราวต้องได้รับความยินยอมจากข้าราชการตุลาการผู้นั้นด้วย เว้นแต่เป็นกรณีที่หากให้ผู้นั้นอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในศาลนั้นต่อไป จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามระเบียบที่ ก.ต.กำหนด และเมื่อมีการสั่งในกรณีเช่นนี้แล้ว ให้ประธานศาลฎีกานำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจาก ก.ต. ในการประชุมนัดแรกนับแต่วันมีคำสั่ง และเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในการสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราว พ.ศ.2550 ข้อ 3 (10) ระบุว่า การที่ประธานศาลฎีกาเห็นว่าหากจะให้ข้าราชการตุลาการผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในศาลที่ดำรงตำแหน่งต่อไปแล้วจะเป็นการเสียหายแก่การบริหารราชการศาลยุติธรรม สมควรให้ข้าราชการตุลาการผู้นั้นไปช่วยทำงานชั่วคราวในศาลอื่น ประธานศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งให้ นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ 371/2564 ลงวันที่ 5 เมษายน 2564 ซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในการประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบคำสั่งดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ การมีคำสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราวเป็นไปเพื่อความสะดวกในการสอบสวน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทางปฏิบัติของทุกหน่วยงานและเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ นายวีระพงศ์ สุดาวงศ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 อีกตำแหน่งหนึ่งแล้ว
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีนี้ในส่วนของนายปรเมษฐ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก็ได้มีหนังสือขอความเป็นธรรม ฉบับลงวันที่ 5 เม.ย. 64 กรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยผู้ถูกกล่าวหาระบุว่ายังไม่ทราบว่าถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงการพิจารณาคดีในประเด็นและข้อเท็จจริงใด และยังไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามระเบียบฯ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือตอบผู้ถูกกล่าวหาแล้วว่า คณะกรรมการได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งมีการกำหนดวันเวลานัดตามที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กำหนด แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาและไม่ปรากฏว่าได้แจ้งเหตุขัดข้อง หรือขอเลื่อนนัด ตามกำหนดเวลานัดแต่อย่างใด
ประกอบกับคณะกรรมการได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นโดยสอบปากคำพยานบุคคล และเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนสอบสวนจนเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ และการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้วจึงได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอความเห็นต่อประธานศาลฎีกา การสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นของคณะกรรมการจึงเป็นการดำเนินการโดยชอบตามกฎหมายแล้วตามประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นกรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ. 2544
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน ของคณะกรรมการสอบสวนตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง (เรื่องการรักษาวินัย โดยสอบสวนว่าข้าราชการตุลาการใด กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่) ซึ่งในการสอบสวนกรณีดังกล่าว คณะกรรมการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง โดยขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการสอบสวนยังไม่ได้สรุปผล ยังใช้เวลาอีกระยะหนึ่งดำเนินการให้ครบถ้วนทุกขั้นตอน ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามขั้นตอนการสอบสวนตามกฎหมาย ประกาศ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการขอโอนคดีนั้นมีการยื่นเข้ามา แต่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้พิจารณายกคำร้องไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาสั่งโอนคดี ข้อเท็จจริงจึงมิได้เป็นไปตามที่มีการนำเสนอข่าว
เนื่องจากขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล การนำเสนอข้อมูลใดๆ ผ่านสื่อมวลชน จึงควรตรวจสอบและระมัดระวัง มิให้กระทบต่อการพิจารณาพิพากษาของศาล