หลังนายไชย์พล วิภา หรือลุงพล ผู้ต้องหาคดีทำให้น้องชมพู่เสียชีวิตได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวนและนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เตรียมเข้าพบคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเป็นธรรมนั้นปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวของนายตำรวจมือสอบสวนคนดัง พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นว่า
"มีประเด็นที่ทำให้กระผมต้องลุกมานั่งเขียนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ก็เนื่องจากทนายความของลุงพลอ้างว่าได้นัดหมายไปยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ต่อ ส.ส.สิระ เจนจาคะ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบพยานหลักฐาน ในการขออนุมัติหมายจับ ลุงพล ในครั้งนี้และวันนี้ (5 มิ.ย.64) มีข่าวว่า กรรมาธิการคณะดังกล่าว เด้งรับ จนถึงขนาดจะเชิญ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวน มาชี้แจงถึงพยานหลักฐาน ที่ขออนุมัติออกหมายจับในคดีดังกล่าวในวันที่ 16 มิ.ย. 64
โดยตั้งประเด็นว่า อาจจะเป็นการขออนุมัติหมายจับโดยมิชอบ ซึ่งถ้าหากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวน นำพยานหลักฐานไปชี้แจงต่อ กรรมาธิการ ตามคำร้องของทนายลุงพลแล้วละก็จะกลายเป็นการไปเปิดถ้วยไฮโลให้ทนายลุงพลแทง ก็เท่านั้นเอง!!! แล้วความเป็นธรรมจะอยู่ตรงไหน? คู่กรณีจะเสียความเป็นธรรมหรือไม่? พนักงานสอบสวน รวมถึงตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเอง ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร จะมีความผิดฐานนำความลับในสำนวนไปเปิดเผยหรือไม่?
ช่วยแยกกันให้ออกนะครับ ระหว่าง“สืบสวน”กับ“สอบสวน” ถ้ามีผู้ไปร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการค้น
ในการจับ ซึ่งเป็นหน้าที่ ของตำรวจ ฝ่ายสืบสวน/ป้องกันปราบปรามว่ามีการละเมิดสิทธิ์หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไร? อย่างไร ? ก็ว่ากันไป
แต่ถ้าล่วงเลยไปถึงการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์และหรือเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
อันเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ดังเช่นคดีนี้แล้ว จะมีใคร? (บุคคลหรือคณะบุคคล) มีสิทธิ์ หรือ มีความถูกต้อง เหมาะสม ที่จะยื่นมือเข้าไปล้วงความลับในสำนวนการสอบสวน พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวน รวบรวมไว้ได้หรือไม่?เหมาะสมหรือไม่ ? จะเกิดความเป็นธรรมกับคู่กรณีหรือไม่?
ถ้ายังคิดไม่ออก กระผมขอกระซิบบอกว่า คดีนี้ ถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวน นำพยานหลักฐานไปชี้แจงต่อกรรมาธิการต่อหน้าทนายความลุงพล หรือไม่ก็ตาม ก็จะเป็นบรรทัดฐานให้ทนายความในคดีอื่นๆใช้ช่องทางนี้ ล้วงเอาความลับในสำนวนล้วงเอาพยานหลักฐานในสำนวน แล้วกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นจะอยู่กันยังไงอีกต่อไป กระผมคิดไม่ออกบอกไม่ถูกคำถามสุดท้าย
“คิดได้ไง” แล้วจะไปกันหรือเปล่า...ไปกันใหญ่แล้ว..ปฏิรูปตำรวจก็ ต้วมเตี้ยม... ต้วมเตี้ยม... เป็นเตี้ยอุ้มค่อม
เพิ่งจะประชุมไปได้สักสิบมาตรามั้ง...เฮ้ยยยยยย.." พล.ต.ท.อำนวย มะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 5 มิถุนายน 2564