แม้นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล จะตกเป็นผู้ต้องหาทำให้น้องชมพู่ เสียชีวิตและอยู่ระหว่างขั้นตอนของกฎหมายแต่ดูเหมือนว่าสังคมยังให้ความสนใจโดยเฉพาะแง่มุมทางกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน บ้างได้ยกเหตุจูงใจในการกระทำความผิดขึ้นมาเป็นเหตุผลจนเริ่มมีเสียงทำนองว่าตำรวจทำคดีมั่ว ทำตามธงของผู้บังคับบัญชาที่มองว่าเรื่องมีเป็นการฆาตกรรม
อย่างไรก็ตามในช่วงหนึ่งของการแกะรอยข่าวมีข้อมูลว่านอกจากบรรดาหลักฐานต่าง ที่อยู่ในมือพนักงานสอบสวนแล้วยังมีการนำวิทยาการใหม่คือการตรวจวิเคราะห์เส้นขนจำนวน 3 เส้นด้วยเทคนิคการใช้รังสีเอกซเรย์จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)ปรากฏว่าผลออกมาสอดรับกับการเข้าเครื่องจับเท็จที่สรุปว่านายไชย์พล มีพิรุธในการตอบคำถาม
แสงซินโครตรอนกับการไขคดีทางนิติวิทยาศาสตร์
ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีมากมาย และการที่จะสืบหาผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานมายืนยันให้สามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างชัดเจน ดังนั้นในประเทศที่พัฒนาแล้วอาทิ ญี่ปุ่น ยุโรปและสหรัฐอเมริกา จึงมีการนำความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ และนี่คือผลงานของแสงซินโครตรอน ชี้ชัดสารหนูในหม้อแกงกระหรี่
เมื่อปี พ.ศ.2541 เกิดเหตุสะเทือนขวัญที่จังหวัดวาคายามะ ทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น นางมาซูมิ ฮายาชิ แม่บ้านวัย 47 ปี โกรธแค้นที่เพื่อนบ้านรังเกียจจึงลอบใส่สารพิษลงไปในแกงกะหรี่ และนำไปแจกจ่ายงานเทศกาลอาหารพื้นเมืองทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และล้มป่วยกว่า 60 ราย หลังเหตุการณ์นี้นางฮายาชิ ถูกจับกุมแต่ปฏิเสธทุกข้อหา จากบันทึกการสอบสวนของตำรวจไม่พบลายนิ้วมือผู้กระทำผิด อีกทั้งพยานไม่ชัดเจน มีแต่ภาชนะที่ใช่ในการทำอาหาร
จากการตรวจหลักฐานด้วยวิธีการทั่วไปในห้องปฏิบัติการกลับไม่พบสาร Arsenic หรือจุดเชื่อมโยงใดๆ เนื่องจากสามีของนางฮายาชิ มีอาชีพในการล้างทำความสะอาดแปรงและอุปกรณ์ต่างๆทำให้เธอใช้วิธีนี้ในการล้างภาชนะที่เธอใช้ทำอาหารด้วยเช่นกัน จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านแสงซินโครตรอน และโลหะที่ทราบว่าสาร Arsenic เมื่อสัมผัสกับโลหะจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระดับโมเลกุล ซึ่งทำให้ไม่สามารถตรวจหาโดยวิธีทั่วไปได้ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้จึงได้ติดต่อขอวัตถุพยานต่างๆนำไปวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอน และพบว่าอุปกรณ์ทำอาหารทุกอย่างของนางฮายาชิ ต่างปนเปื้อนสาร Arsenic ทั้งสิ้น ผลของคดีนี้ในที่สุดนางฮายาชิ ถูกตัดสินประหารชีวิต
สำหรับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน)ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เป็นสถาบันวิจัยแห่งเดียวในประเทศไทย ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน นับเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีวิศวกรรม ที่นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการตอบโจทก์ลึกซึ้งทางวัสดุถึงระดับอะตอมและโมเลกุล มีการประยุกต์หลากหลาย ทั้งทางเกษตร การแพทย์ เภสัชกรรม อุตสาหกรรรม
เมื่อเราทำความรู้จักกับนวัตกรรมใหม่เอี่ยมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดในระดับโลกกันพอสังเขปแล้ว ดังนั้นพยานหลักฐานต่างๆที่เชื่อมโยงกับคดีไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแตะ ของเล่นน้องชมพู่ ถุงปุ๋ย แม้คดีนี้จะจบลงที่ผู้ต้องหาไม่ยอมเปิดปาก ไม่ยอมสารภาพว่าแรงจูงใจทำให้ตายมาจากอะไร แต่เชื่อได้ว่าพยาน หลักฐานการเชื่อมโยงจะสามารถมัดตัวฆาตกรเหี้ยมจนดิ้นไม่หลุด