xs
xsm
sm
md
lg

EIC SCB ปรับเป้าจีดีพีโตเหลือ 1.9% โควิด-19 กระทบหนัก จับตาเร่งฉีดวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) กล่าวว่า EIC SCB ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงมา​ที่ 1.9% จากเดิมที่ 2.0% จากสถานการณ์การโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยังมีเคสต่อวันที่สูง ซึ่งน่าจะเป็นอยู่จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ และคาดว่าจะสามารถควบคุมให้อยุ่ในระดับต่ำกว่า 100 เคสต่อวันได้ในอีก 4 เดือนนับจากการระบาดตั้งแต่เดือนเมษายนในกรณีฐาน ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการคุมเข้มที่คาดว่าจะกระทบต่อการบริโภคประมาณ 310,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประมาณการการบริโภคเอกชนขยายตัว 1.9% จากเดิมที่ 2.0% รวมถึงปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวต่างประเทศเหลือ 400,000 คนจาก 1.5 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ยังมีความระมัดระวังเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จึงยังไม่มีการเปิดประเทศมากนัก

"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก จีดีพีในไตรมาส 2 น่าจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากไตรมาสแรกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มเป็นบวกบางๆ จากไตรมาสก่อนหน้า และในระยะถัดไปยังคงต้องติดตามจำนวนการติดเชื้อและการกระจายวัคซีนต่อไป"

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหนุนในภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโบกที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 5.8% รวมถึงมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาแล้วประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีออกมาอีก 1 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินใหม่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้นอกจากมาตรการพยุงการบริโภคแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบหนัก และการว่างงานที่มีสัญญาณอ่อนแรงลง รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะต้องก้าวไปสู่ New Normal โดยเฉพาะการดึงเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ดิจิทัลให้ได้

สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นมีความแข็งแกร่ง แต่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วรวมจีน มีการฟื้นตัวที่ดีและจีดีพีกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 แล้ว เนื่องจากมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ ยังไม่เข้าสู่ระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากมีอัตราการฉีดยังต่ำ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ช่องว่างจีดีพีก่อน-หลังเกิดโควิด-19 ยังกว้างเพราะพึ่งพาการท่องเที่ยว ดังนั้น รัฐจึงต้องยังมีบทบาทสำคัญทั้งในเรื่องการเร่งฉีดวัคซีน และการเยียวยา เพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกมากขึ้น

ด้านมาตรการทางเงินนั้น EIC SCB คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม 0.50% ไปอีกระยะหนึ่ง และจะให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการทางการเงินอื่น เช่น การเร่งกระจายสินเชื่อที่จำเป็นมากกว่าในขณะนี้ เช่นเดียวกับธนาคารประเทศหลักๆ อย่างเฟดก็น่าจะยังอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมไปจนถึงปี 2023 แต่อาจจะมีการทยอยปรับลดการซื้อสินทรัพย์ลงซึ่งน่าจะส่งสัญญาณในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งก็จะทำให้ตลาดเงินมีความผันผวนเป็นระยะ

สำหรับค่าเงินบาทประมาณการในทิศทางอ่อนค่า ณ สิ้นปีที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีนี้จะติดลบเล็กน้อยที่ 0.5%ของจีดีพี ซึ่งถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 8 ปีจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการขาดดุลบริการ

นายยรรยง กล่าวว่า อีกปัญหาที่ถือเป็นแผลเป็นเศรษฐกิจไทยคือหนี้ครัวเรือนที่สูง โดยคาดว่าจะสูงสุดในไตรมาสแรกที่ 91% และจะยังทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งระดับดังกล่าวถือว่าสูงและจะเป็นปัญหาหนี้ท่วมในอนาคต จากรายได้ประชากรที่ฟื้นตัวช้า จากภาวะเศรษฐกิจชะลอกระทบกับงบดุลครัวเรือน และปัจจุบันก็ยังมีความต้องการสินเชื่ออยู่ในขณะที่สถาบันการเงินยังเข้มงวด ทำให้เกิดหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นและกลายเป็นปัญหาทางสังคมในที่สุด

ขณะที่หนี้สาธารณะที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับเกิน 60% นั้นถือว่าเป็นระดับที่ยังบริหารจัดการได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ ซึ่งหากในอนาคตระยะปานกลางมีการบริหารจัดการในเรื่องการลดระดับหนี้และการจัดเก็บรายได้ที่ดีก็จะไม่เป็นปัญหาในระยะยาว แต่สิ่งที่สำคัญคือการนำเงินมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุดทั้งในระยะสั้นในด้านมาตรการเยียวยาต่างๆ และระยะยาวคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น