ผู้ว่าฯ ธปท.รับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบวงกว้าง เร่งแก้ปัญหาให้เร็ว ตรงจุด ขอทุกฝ่ายร่วมมือให้เศรษฐกิจฟื้นตัว อัดมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูช่วย SME เข้าถึงเงินทุน เพิ่มสภาพคล่อง ดำเนินธุรกิจต่อ คาดไตรมาส 1 ปี 66 เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลในวงกว้างและได้ทดสอบความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs และรายย่อยมาตลอดระยะเวลาเกือบปีครึ่ง เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสามและการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา ซึ่งอาจต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 2566 กว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19
การระบาดที่เกิดขึ้นหลายระลอกและมาตรการที่ออกมาควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วงๆ ส่งผลต่อไปยังกำลังซื้อและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ธุรกิจในภาคการค้าและบริการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้รับผลซ้ำเติมต่อเนื่อง ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบและความทนทานของธุรกิจต้องวัดกันที่สายป่านเป็นสำคัญ บางธุรกิจที่สายป่านสั้น ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว หลายธุรกิจขาดรายได้ กระทบสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกตินี้ ธุรกิจ SMEs จึงต้องการความช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน
ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐรวมถึง ธปท. ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาครัฐที่เน้นการเยียวยารายได้และกระตุ้นรายจ่ายของประชาชน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ของผู้ประกอบการ ในส่วนของ ธปท. ได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้แบบครบวงจร เพื่อให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนมีทางเลือกตัวช่วยที่เหมาะสมและทันการณ์ ตั้งแต่การพักหรือชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้
มาตรการช่วยเหลือเดิมจึงไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงยกระดับ (step up) ความเข้มข้นของมาตรการเพื่อให้ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ โดยได้ปลดล็อกข้อจำกัดของ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเดิม ให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น คือ (1) ขยายขอบเขตของลูกหนี้ให้รวมผู้ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินมาก่อน (2) ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือให้ยาวขึ้น จากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี ให้สอดคล้องกับการที่ธุรกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว (3) ขยายวงเงินให้เพียงพอรองรับความต้องการของลูกหนี้ จากเดิมที่ร้อยละ 20 ของยอดคงค้างสินเชื่อที่เบิกใช้ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ
(4) กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ แต่เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี และลูกหนี้จะได้รับยกเว้นค่าดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก (5) เพิ่มกลไกค้ำประกันโดย บสย. และเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายของกลไกดังกล่าว จากปกติที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยออกแบบให้กลุ่ม SMEs รายเล็กได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มากหรือมีสายป่านสั้น และต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว
การขยายเงื่อนไขของความช่วยเหลือในมาตรการให้ครอบคลุมขึ้นแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ การบริหารจัดการมาตรการ (Execution) และการให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการได้มากขึ้น ที่ผ่านมา มีข้อจำกัด หรือ “gap” ที่ทำให้ SMEs หลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คือ (1) ธุรกิจ SMEs มีความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง (2) สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของ SMEs ได้ยาก เพราะขาดข้อมูล และ (3) ยังขาดคนกลางที่จะช่วยชี้เป้า SMEs ที่มีศักยภาพและจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ SMEs ไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ ซึ่งทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ SMEs ต้องทำงานร่วมกัน และยกระดับบทบาทของตนในการช่วยให้ SMEs ได้รับสภาพคล่องอย่างทันการณ์
ธปท.อยากจะขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ใช้แนวทางนี้ในการขยายผลออกไปเพื่อช่วยคู่ค้ารายย่อยของท่าน ซึ่งจะทำให้ SMEs กว่า 1.8 ล้านราย ที่จ้างงานกว่า 7.5 ล้านคน และเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสูงขึ้น และการร่วมกันทำงานของทุกฝ่ายอย่างเต็มที่จะช่วยธุรกิจ SMEs ได้มากที่สุด และเป็นประโยชน์กับธุรกิจในภาพรวม