xs
xsm
sm
md
lg

สภาอนุมัติ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน-“พิธา” ย้ำเอสเอ็มอีต้องการเงินชดเชยมากกว่าเป็นหนี้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ภาพจากแฟ้ม)
สภาอนุมัติ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ด้าน “พิธา” ย้ำเอสเอ็มอีต้องการเงินชดเชยมากกว่าเป็นหนี้เพิ่ม อัดรัฐบาลหมกมุ่นบริหารแบบรัฐราชการรวมศูนย์ “ผู้ว่าฯ ธปท.” ยันไม่ใช่การกู้เงินของรัฐบาล ไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะ

วันนี้ (27 พ.ค. 2564) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณา พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน อาทิ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้คือกระแสเงินสดที่จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้ยังหายใจได้ แต่ สิ่งที่ SMEs ไทยต้องการ ไม่ใช่การเป็นหนี้เพิ่ม แต่ต้องการเงินชดเชยจากรัฐบาลที่ออกมาตรการให้เขาต้องหยุดกิจการชั่วคราว รัฐบาลมีทั้งอำนาจ และเงินกู้ แต่ SMEs ไทยยังร่อแร่ เพราะรัฐบาลยังหมกมุ่นอยู่กับการบริหารจัดการแบบรัฐราชการรวมศูนย์ หรือคุยแต่กับเจ้าสัว โดยไม่ลงไปดูความต้องการที่แท้จริงของประชาชน นโยบายเดียวที่ท่านสำเร็จคือเลือกสงบจบที่ลุงตู่ ขอให้ไม่ต้องสงบมากก็ได้ ให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคักบ้างก็ได้ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องลงมาดู และใส่ใจผู้ประกอบการมากขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ออกเพื่อเติมเต็มความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะก่อนหน้านี้แม้จะมีการออก พ.ร.ก.มาก่อนแล้ว แต่เป็นการออกจากการประเมินสถานการณ์โควิดจากรอบแรก ซึ่งสถานการณ์ทอดเวลานานกว่าที่ประเมินไว้ ด้วยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังเห็นถึงความเสี่ยงจึงได้ร่วมกันร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้น

นอกจากนี้ กลไกของมาตรการช่วยเหลือจาก พ.ร.บ.ครั้งนี้ถูกออกแบบให้สามารถช่วยเหลือธุรกิจได้จริง และยืดหยุ่นที่จะสามารถช่วยเหลือธุรกิจได้ทุกรูปแบบ ตนยืนยันว่าเงินจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท จาก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการกู้เงินของรัฐบาล และไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะ แต่เป็น พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการชั่วคราวให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถกระจายเงินไปยังผู้ที่ต้องการได้ตรงจุดมากขึ้น และเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้สภาพคล่องเหล่านั้นกลับคืนมา ส่วนที่รัฐบาลจะต้องรับภาระมีเพียงดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และความเสียหายที่ร่วมรับภาระกับสถาบันการเงินที่ผ่านกลไก บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เท่านั้น ในกรณีที่ลูกหนี้ กลายเป็นหนี้เสีย โดยตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มากที่สุดโดยไม่สร้างภาระการคลังให้รัฐบาลมากจนเกินควร

จากนั้น นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ให้สมาชิกมีมติอนุมัติ ร่าง พ.ร.ก. 331 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 และงดออกเสียง 58 จากนั้น นายศุภชัย จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 19.35 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น