xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์กรุงเทพจัดมาตรการชุดใหญ่ร่วมช่วยเอสเอ็มอี เตือนตุนสภาพคล่องตั้งรับพิษโควิด-19 อีกยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกรุงเทพเตือนธุรกิจเตรียมสภาพคล่องให้พร้อม เชื่อสถานการณ์โควิด-19 อยู่อีกนาน พร้อมแนวทางช่วยเหลือ 3 ช่วงเวลาสำคัญ ประคองให้อยู่รอด ฟื้นตัว เติบโตระยะยาว พร้อมจัดมาตรการชุดใหญ่เสริมสภาพคล่องให้ลูกค้า ยืนระยะได้จนถึงฉีดวัคซีนในวงกว้าง ดึงเศรษฐกิจ-ธุรกิจฟื้นอีกครั้ง

โดยธนาคารกรุงเทพเป็นหนึ่งในธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ซึ่งเป็นโครงการที่เครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐ ภาคเอกชน และความร่วมมือกับสถาบันการเงินชั้นนำ ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างการสัมมนาของโครงการดังกล่าวว่า โรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง จนก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับชั้น และจากประเมินจากสถานการณ์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.64) ที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงประเทศต่างๆ และพบการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ได้ว่าโรคนี้จะยังคงเป็นปัญหาต่อไปอีกพอสมควร ดังนั้น ธุรกิจต้องเตรียมการให้พร้อมสำหรับระยะเวลาที่จะยาวนานขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่อง

“เราคาดการณ์ได้ว่าโรคโควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกพอสมควร โจทย์สำคัญคือ ธุรกิจต้องเตรียมสภาพคล่องให้พร้อมรองรับกับระยะเวลาที่จะยาวนานขึ้น เพื่อประคับประคองให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งกลุ่มค้าปลีก ท่องเที่ยว และผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีรายย่อย”

นายชาติศิริ กล่าวต่อว่า ธนาคารเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหานี้ ซึ่งได้พยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลและทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อเข้าใจสถานการณ์และความต้องการของลูกค้าแต่ละราย กระทั่งสามารถสนับสนุนลูกค้าได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ทันต่อสถานการณ์ และสอดรับกับความหลากหลายของลูกค้า มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ ห้างสรรพสินค้าประเภทต่างๆ ธุรกิจขนาดกลางที่เป็น Suppliers สินค้าและธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งรวมถึงผู้ค้าปลีกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจากการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพบว่าควรแบ่งความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับ 3 ช่วงการปรับตัวที่สำคัญของลูกค้า เนื่องจากจะมีความต้องการในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน ดังนี้

ช่วงที่ 1 ประคองธุรกิจให้ผ่านปัญหาไปให้ได้ ในช่วงนี้ “สภาพคล่องระยะสั้น” เป็นเรื่องสำคัญมาก ธนาคารจะเน้นสนับสนุนสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับประคับประคองรักษากิจการให้อยู่รอด รักษาพนักงานไว้ และปรับตัวเพื่อลดต้นทุนให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เดินทางน้อยลง ออกจากบ้านน้อยลง ไม่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง

ช่วงที่ 2 การฟื้นฟูธุรกิจ เมื่อธุรกิจเริ่มปรับตัวได้และเริ่มรีสตาร์ทอีกครั้ง เวลานี้ธุรกิจจะต้องการ “เงินทุนหมุนเวียน” สำหรับผลิตสินค้าหรือบริการ เนื่องจากสภาพคล่องของธุรกิจถูกใช้ไปในช่วงแรกแล้ว การมีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาเสริมอีกก้อนหนึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรงขึ้น

ช่วงที่ 3 ระยะยาว เมื่อธุรกิจเริ่มดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง อาจต้องปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปในยุคใหม่หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมีความสำคัญมากขึ้น ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนปัจจัยต่างๆ เช่น ข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์ แนะนำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนเงินทุนระยะยาว เพื่อช่วยให้ลูกค้าปรับโครงสร้างธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้ง 3 ช่วงเวลาการปรับตัวมีความสำคัญทุกช่วง และลูกค้าแต่ละรายก็มีความต้องการในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เพราะแต่ละรายได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน และมีความสามารถปรับตัวไม่เท่ากัน กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายย่อยต้องพยายามหาวิธีทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า อาจเพิ่มบริการเดลิเวอรี ระบบชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสด และระบบการค้าขายผ่านออนไลน์และแอปพลิเคชัน หรือกลุ่มธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ เช่น ภาคท่องเที่ยว เนื่องจากยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศไทย ขณะเดียวกัน มีกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสขยายธุรกิจได้ในช่วงนี้เช่นกัน อย่าง กลุ่มส่งออก ยาง ยา เวชภัณฑ์ ดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพ ที่เราเป็น “เพื่อนคู่คิด” ให้แก่ลูกค้า โจทย์สำคัญของเรา คือต้องเข้าใจเพื่อประเมินผลกระทบต่อธุรกิจให้ชัดเจน เราถึงสามารถช่วยให้ธุรกิจรอดจากสถานการณ์นี้ได้ จากนั้นต้องช่วยให้ธุรกิจสามารถกลับเดินต่อได้อย่างยั่งยืนด้วย หรือธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตก็ต้องสนับสนุนให้ทันเวลาเช่นกัน

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือลูกค้า นายชาติศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกรุงเทพได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อนำเสนอแผนความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยสภาพคล่องของธนาคารเอง และอาศัยสภาพคล่องที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยจัดหาให้ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ที่เน้นการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมถึงฟื้นฟูธุรกิจให้เดินหน้าตามศักยภาพเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โดยมีจุดเด่นเรื่องดอกเบี้ยต่ำมากในช่วง 2 ปีแรก เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ ให้วงเงินสูงขึ้นถึง 30% ของวงเงินเดิม เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอ ระยะเวลาผ่อนชำระที่ยาวขึ้นเป็น 5 ปี เพื่อให้มีเวลาฟื้นฟูธุรกิจได้มากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ และมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันให้ เพื่อลดภาระหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย

สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อ Micro SME สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการสภาพคล่องไม่มากนัก ตั้งแต่ 5 แสนบาท-1.5 ล้านบาท ซึ่งเปิดกว้างทั้งผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปทั้งที่ไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงิน หรือมีวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดย 6 เดือนแรกฟรีดอกเบี้ย สามารถกู้ได้ยาวถึง 5 ปี และมี บสย. ช่วยค้ำประกันเช่นกัน ธนาคารเน้นอำนวยความสะดวกการพิจารณาอนุมัติให้เร็วพิเศษภายใน 7-14 วัน

สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อคู่ค้าห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของห้างสรรพสินค้า ทั้งซัปพลายเออร์ และร้านค้าในพลาซาต่างๆ เน้นการอนุมัติเร็วเช่นกัน
สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อ Micro SME โดยธนาคารกรุงเทพ สำหรับผู้ประกอบการ Micro SME ที่ไม่เข้าเงื่อนไขมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ธนาคารกรุงเทพก็พร้อมสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเอง

“เราเชื่อมั่นว่ามาตรการสภาพคล่องชุดใหม่ดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ธุรกิจประคองตัวไปได้จนกระทั่งถึงจุดที่ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้มากพอ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจทั้งในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้มากขึ้น ดังเช่นที่เราเห็นตัวอย่างในหลายประเทศเช่น อิสราเอล อังกฤษ และสหรัฐฯ ที่ทุกคนกล้าออกจากบ้าน กล้าใช้ชีวิต กล้าใช้จ่าย และจะนำเศรษฐกิจไทยโดยรวมและธุรกิจไทยเข้าสู่ช่วงที่สอง คือ เริ่มต้นรีสตาร์ทใหม่ และต่อเนื่องไปจนถึงช่วงที่สาม คือ ปรับโครงสร้าง ปรับ Business Model ที่ธนาคารจะทยอยออกสินเชื่อและการสนับสนุนรูปแบบต่างๆ มาช่วยรองรับต่อไป และเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปด้วยกัน” นายชาติศิริ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น