xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ฝากขังก๊วนปาร์ตี้ชาวเกย์ไม่กลัวโควิด-19 โดนคุก-ปรับหลักหมื่น แต่ให้รอลงอาญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ตร.วังทองหลาง ฝากขังก๊วนปาร์ตี้ชาวเกย์มั่วเซ็กซ์-ยา ไม่กลัวโควิด-19 ศาลสั่งจำคุกคนละ 1-7 เดือน ปรับอ่วมหลักหมื่น แต่ปรานีให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (24 พ.ค.) พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ได้นำตัว นายสุรัช จิตพึงธรรม อายุ 41 ปี และนายณธัชพงศ์ แสงแก้ว อายุ 38 ปี ผู้ต้องหาที่ 1-2 คดีปาร์ตี้เซานาชาวเกย์สีม่วง มายื่นคำร้องขอฝากขังเป็นครั้งแรกผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ

โดยคำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนทราบว่า ที่ร้านฟารอส 2 เซานา ตั้งอยู่เลขที่ 22/5 ซอยรามคำแหง 21 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม.เป็นที่มั่วสุมเสพยาเสพติดและมีเพศสัมพันธ์โดยทำเป็นห้องเซานา จึงนำกำลังเข้าไปจับกุมในวันดังกล่าวพบ นายสุรัช ผู้ต้องหาที่ 1 ทำหน้าที่รับลูกค้าหน้าบริเวณเคาน์เตอร์ตรวจค้นพบยาไอซ์ ยาไอซ์ชนิดเกล็ดสีขาว น้ำหนัก 0.6 กรัม เข็มฉีดยา 6 เข็ม จากนั้นได้เข้าตรวจค้นบริเวณด้านในพบ นายณธัชพงศ์ ผู้ต้องหาที่ 2 พร้อมเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า จำนวน 0.09 กรัม จากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปตรวจปัสสาวะ พบว่า เป็นสีม่วงจึงแจ้งข้อหาเสพยาเสพติด, มียาเสพติดให้โทษเพื่อจําหน่าย, ร่วมชุมนุมกิจกรรมอันแออัดมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 

ต่อมาได้นำผู้ต้องหาทั้งสองไปตรวจปัสสาวะที่โรงพยาบาลนพรัตน์ธานี พบว่า เป็นสีม่วง จึงแจ้งข้อหาร่วมกันเสพยาเสพติด, มียาเสพติดเพื่อจําหน่ายและชุมนุมในที่แออัดรวม 3 ข้อหา

นอกจากนี้แล้ว ยังพบผู้ต้องหาเป็นชายอีก 59 คน มีพฤติการณ์ร่วมชุมนุมกันในที่แออัด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงนำตัวแยกไปฝากขังที่ศาลแขวงพระนครเหนือด้วย

ท้ายคำร้องยังระบุว่า พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาจะครบ 48 ชั่วโมงแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสอบพยานอีก หลายปาก จึงขออำนาจศาลฝากขังไว้เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 23 พ.ค.- 4 มิ.ย. 2564 และขอคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขัง

หลังจากนั้น ไม่ปรากฏว่า มีญาติผู้ต้องหายื่นคำร้องหรือเตรียมหลักทรัพย์ขอประกันแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

วันเดียวกัน พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ได้นำตัวผู้ต้องหาชายอีก 59 คนขึ้นรถกระบะหลังคาสูงไปยื่นผัดฟ้องฝากขังที่ศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหาร่วมการชุมนุมในสถานที่แออัดอันมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคไข้หวัดโคโรนา (โควิด-19) เป็นเวลา 6 วัน โดยส่วนใหญ่ให้การรับสารภาพ ทั้งข้อหาชุมนุมในที่แออัดและข้อหาไม่สวมหน้ากากอนามัย

ต่อมาศาลแขวงพระนครเหนือ จึงมีคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่รับสารภาพว่า จำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27, 29 , 31-59 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18 และจำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 การกระทำของจำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุกจำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27, 29, 31-59 คนละ 1 เดือน ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27 คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27, 29, 31-59 คนละ 7 เดือน ปรับคนละ 30,000 บาท จำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27, 29, 31-59 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27 คนละ 3 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 15,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 29, 31-59 คนละ 15 วัน ปรับคนละ 10,000 บาท

ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27, 29, 31-59 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติ จำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27 มีกำหนด 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี และให้จำเลยที่ 1-4, 8-14, 17-27 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

สำหรับจำเลยอีก 7 คน คือจำเลยที่ 5, 6, 7, 15, 16, 28, 30 ให้การปฏิเสธ ตำรวจ สน.วังทองหลาง จึงยื่นผัดฟ้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งเจ็ด เป็นหมายเลขคดี ผ 436/2564 ข้อหา พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ-เมทแอมเฟตามีน (เสพ), ความผิดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีกำหนด 6 วัน นับตั้งแต่ 24-29 พ.ค. 2564 และยื่นผัดฟ้อง นายจิณณะ กฤษฎีจินดา (เจ้าของร้าน) ข้อหาความผิดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, พระราชบัญญัติสุราฯ และพระราชบัญญัติโรงแรม มีกำหนด 6 วัน นับตั้งแต่ 24-29 พ.ค. 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น