xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจฝากขัง-ค้านประกัน “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” หลอกลงทุนธุรกิจกระเป๋าแบรนด์เนม เสียหาย 21 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อายุ 45 ปี
ตำรวจ ปอท.ฝากขัง-ค้านประกัน “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” หัวหน้าแก๊งหลอกลงทุนทำธุรกิจกระเป๋าแบรนด์เนม เสียหายมูลค่า 21,583,846 บาท ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขัง

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (18 พ.ค.) ร.ต.อ.เจษฎา เหมโก พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ได้ฝากขัง นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อายุ 45 ปี ชาว กทม. ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนครั้งแรกผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ
โดยคำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ว่า ก่อนหน้านี้ นายอติชาติ เลาหะพิบูลกุล ผู้เสียหายกับพวกรวม 19 คน ได้รับเชิญไปงานเปิดตัวบริษัท วีเลิฟ ยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จำกัด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2563 ที่โรงแรมทริปเปิ้ลวาย ศูนย์การค้าสามย่านย่านมิตรทาวน์ โดยมีผู้ต้องหากับพวกร่วมกันประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุนในธุรกิจซื้อขายและเช่ากระเป๋าแบรนด์เนมผ่านบริษัทดังกล่าว โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง เพียงแต่รอรับเงินปันผลภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้นโดยการทำธุรกิจปล่อยเช่ากระเป๋าแบรนด์เนมแก่ลูกค้าทั่วไป อ้างว่า มีฐานลูกค้ากว่า 1 แสนราย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนโดยรายละเอียดในการลงทุนกับธุรกิจกระเป๋าแบรนด์เนม มีขั้นตอนดังนี้ คือ ให้เข้าไปเลือกสินค้าจากเว็บไซด์ CRABYBRANDNAME.COM ซึ่งจะมีภาพกระเป๋าแบรนด์เนม หลายยี่ห้อ พร้อมราคาสินค้า จากนั้นสามารถเลือกสินค้าได้หลายชิ้นตามที่ต้องการลงทุน แล้วสามารถชำระเงินได้หลายช่องทาง เช่น จ่ายเป็นเงินสด ผ่านบัตรเคดิต หรือ โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารต่างๆ หลายแห่ง หรือชำระเป็นทองคำ เมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว จะมีสัญญาที่ลงลายมือชื่อ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้จากเว็บไซต์ของร้าน และจะได้รับใบเสร็จรับเงิน ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับผลตอบแทน ทุกวันที่ 30 ของเดือน แต่ปรากฏว่ามิได้มีการจ่ายเงินตอบแทนตามที่สัญญาตกลงกันไว้แก่ผู้เสียหาย จึงได้มีการทวงถามทั้งทางโทรศัพท์และทางไลน์ แต่เริ่มติดต่อได้ยากขึ้น จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าบริษัทดังกล่าวไม่พบว่ามีการลงทะเบียนทางศุลกากรจริงและผู้เสียหายไม่ได้รับเงินตอบแทนแต่อย่างใด ทำให้เกิดความเสียหายทั้งสิ้น 21,583,846 บาท จึงแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าว ต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับนายประสิทธิ์ผู้ต้องหา กระทั่งเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา นายประสิทธิ์ ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 749/2564 ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับตำรวจ ปอท.ตามที่ถูกออกหมายจับ จึงแจ้งข้อหาว่า ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินเป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก, พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
เหตุเกิดที่แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน และเขตห้วยขวาง กทม.ต่อเนื่องกัน
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและควบคุมตัวผู้ต้องหาจะครบ 48 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่เสร็จ จะต้องรอสอบปากคำพยานบุคคลอีก 30 ปาก และรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษ จึงขอฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 พ.ค. 2564 และขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ อีกทั้งมีประชาชนตกเป็นผู้เสียหายจำนวนมาก และทางการสอบสวน พบว่า ผู้ต้องหารายนี้เป็นผู้บงการ รวมทั้งมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารและมีอำนาจจัดการในบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ การปล่อยชั่วคราวอาจทำให้เสียหายต่อรูปคดีได้

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้

ต่อมาปรากฎว่า นายประกันของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นฝากขังนี้ด้วยหลักทรัพย์เงินสด 400,000 บาท

ศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ความเสียหายมีจำนวนมาก ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น